ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 90 : การพิทักษ์แฟ้มผู้ป่วย

ในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าเวชระเบียน คือผู้ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลให้เป็นผู้พิทักษ์แฟ้มผู้ป่วย (Custodian of records) มีหน้าที่รับและตอบสนองหมายศาล (Subpoena) ในเรื่องเวชระเบียนผู้ป่วย หากต้องให้การในศาล หัวหน้าเวชระเบียน จะรับผิดชอบเฉพาะการสร้างและรักษาแฟ้มผู้ป่วย ตามนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติของโรงพยาบาลเท่านั้น

หัวหน้าเวชระเบียนไม่มีคุณสมบัติพอที่จะให้การในศาล ในเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยที่บันทึกอยู่ในแฟ้มผู้ป่วย และมักต้องทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้าบริหารความเสี่ยง (Risk management) ในโรงพยาบาล และทนายความของโรงพยาบาล เมื่อได้รับหมายศาล ดังนั้นการบันทึกเนื้อหาในแฟ้มผู้ป่วย จึงต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ทางกฎหมาย ตามนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติของโรงพยาบาล นับเป็นการจัดระเบียบมาตรฐานที่กำหนด (Designated standards organization : DSO)

ในยุคของไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail : e-mail) รูปแบบต่างๆ ของการสื่อสาร รวมทั้งการสื่อสารภายในโรงพยาบาล อาจจะยากในการค้นหาข้อมูลผู้ป่วยจากเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการประกันคุณภาพ (Quality assurance) อาทิ รายงานอุบัติการณ์ (Incident report) และการทบทวนระดับเพื่อนร่วมงาน (Medical staff peer review) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับการบริหารปฏิบัติการ (Operations management)

ดังนั้นโรงพยาบาลที่ทำงานอย่างมีระบบจะแยกแยะเอกสารที่เป็น DSO ไว้ต่างหาก เพื่อง่ายต่อการค้นหา แล้วใช้เป็นหลักฐาน (Evidence) ในคดีแพ่งและอาญาในภายหน้า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นที่ต้องการของคู่กรณีกับโรงพยาบาล ซึ่งอาจอาศัยหมายศาลในการบังคับโรงพยาบาลให้นำไปเป็นหลักฐานในศาลก็ได้ จึงต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องการรักษาข้อมูลผู้ป่วยไว้เป็นความลับส่วนบุคคล คำว่า “ส่วนบุคคล” (Privacy) หมายถึงผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะกำหนดว่าใครสามารถเข้าถึงได้ ส่วนคำว่า “ความลับ” (Confidentiality) หมายถึงข้อมูลนี้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ (Accident) หรือจากผู้ไม่มีสิทธิ์ (Unauthorized) ในการเปลี่ยนแปลง หรือทำลายข้อมูล

กฎหมายระบุถึง ข้อมูลทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการพิทักษ์ (Protected health information : PHI) โดยโรงพยาบาล บริษัท/องค์กรประกันสุขภาพ และผู้เกี่ยวข้องกับการประมวลข้อมูลผู้ป่วย ผู้พิทักษ์ดังกล่าวอาจใช้ PHI ไปในการรักษา จ่ายค่ารักษา จ่ายค่าปฏิบัติการ หรือบริการ เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องลงนามในแบบฟอ์ม ที่แสดงว่า ตนได้รับการบอกกล่าวถึงแนวปฏิบัติความเป็นส่วนบุคคล (Private practices) ซึ่งโดยทั่วไป การเปิดเผยข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วย ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย การละเมิด (Breach) ความลับส่วนบุคคลดังกล่าว หมายถึงการได้มาซึ่ง, การเข้าถึง, การใช้, หรือการเปิดเผยข้อมูล PHI ดังนั้นการพิทักษ์ฐานข้อมูลผู้ป่วย (Patient database) และแฟ้มผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic health records : EHR) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. Nutritionist - http://en.wikipedia.org/wiki/Nutritionist