ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 89 : แฟ้มผู้ป่วย

จุดมุ่งหมายหลักของการรักษาแฟ้มผู้ป่วย (Patient record) ก็เพื่อบันทึกแนวทางปฏิบัติ (Course) การเจ็บป่วยและการรักษาของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยมิใช่สิ่งเดียวที่มุ่งเน้น แฟ้มผู้ป่วยยังใช้

  • ในการสนับสนุนการตัดสินใจทางการแพทย์และการสื่อสารระหว่างแพทย์ด้วยกัน
  • บันทึกบริการที่ผู้ป่วยได้รับเพื่อการขอเบิกจ่าย/เบิกคืน (Re-imbursement)
  • ให้ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพและประสิทธิผลของบริการดูแลป่วย
  • ให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการศึกษาทางการแพทย์
  • อำนวยความสะดวกในการบริหารปฏิบัติการของโรงพยาบาล
  • ให้ข้อมูลตามความต้องการของหน่วยงานรัฐ [อาทิ กระทรวงสาธารณสุข]

แม้ว่าเนื้อหา (Content) ของแฟ้มผู้ป่วยอาจแตกต่างไปตามผู้ให้บริการ แต่ส่วนใหญ่แล้วแฟ้มผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกมักประกอบด้วย

  • ข้อมูลประชากรศาสตร์ (Demographics) อาทิ ชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ วันเกิด ฯลฯ
  • ประวัติการรักษา
  • บันทึกของแพทย์ และ/หรือ พยาบาล
  • ผลตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ
  • เอกซ์เรย์ และภาพถ่าย (Scan)
  • บันทึกหัตถการ (Procedure)
  • สรุปผลการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Discharge summary) ในกรณีผู้ป่วยใน

หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการขอเบิกจ่าย/เบิกคืน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มักกำหนดมาตรฐานเนื้อหาของแฟ้มผู้ป่วย อาทิ แพทย์ต้องบันทึกสรุปผลการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มิฉะนั้น อาจสูญเสียสิทธิการรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล (Admitting privilege)

โรงพยาบาลมักอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของของแฟ้มผู้ป่วย แต่แท้จริงแล้ว มีเพียงสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น แม้ว่า โรงพยาบาลเป็นผู้สร้างและรักษาแฟ้มผู้ป่วย รวมทั้งเก็บเป็นความลับ ตามหลักการทางกฎหมาย ข้อมูลในแฟ้มผู้ป่วยเป็นของผู้ป่วย โรงพยาบาลเป็นเจ้าของสื่อ (อาทิ กระดาษ หรือจานแม่เหล็ก (Disk drive) ในคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูล) เท่านั้น

แฟ้มผู้ป่วยเป็นการบันทึกของโรงพยาบาล ในเรื่องแนวทางปฏิบัติของการรักษา ตามนโยบายและระเบียบวิธีของโรงพยาบาล ซึ่งใช้เป็นเอกสารทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดี อาทิ การประกอบโรคศิลป์ที่บกพร่องของแพทย์ (Malpractice) และการบาดเจ็บสาหัสของผู้ป่วย ในอุบัติเหตุรถยนต์ที่ผู้ขับอยู่ในสภาพมึนเมา

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. Nutritionist - http://en.wikipedia.org/wiki/Nutritionist