ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 88 : แผนกเวชระเบียน

สารสนเทศ (Information) มีบทบาทสำคัญในระบบการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการได้มา (Acquisition) การใช้ การสื่อสาร และการเก็บสารสนเทศ แผนกที่รับผิดชอบต่อประสิทธิภาพและการเก็บเป็นความลับของสารสนเทศของผู้ป่วย ในโรงพยาบาล คือแผนกเวชระเบียน (Heath records หรือ Medical records)

เวชระเบียน อยู่ในรูปแบบของกระดาษหรือระบบทำงานด้วยมือ ตามที่ปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม จนถึงปัจจุบันในโรงพยาบาลบางแห่ง อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายสนับสนุนการใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic health records : EHR หรือ Electronic medical records : EMR) และจะมีมาตรการลงโทษผู้ไม่ใช้มาตรฐาน HER หรือ EMR ภายหลังปี พ.ศ. 2558

EHR หรือ EMR คือแแนวความคิดใหม่ที่กำลังวิวัฒนาอยู่ เป็นการเก็บสะสมอย่างเป็นระบบของสารสนเทศสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนในรูปแบบของดิจิทัล (Digital) ซึ่งในทางทฤษฎี สามารถปันใช้ (Share) ข้ามโรงพยาบาล โดยการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายยของระบบสารสนเทศทั่วทั้งโรงพยาบาล (Enterprise) และระบบแลกเลี่ยนสารสนเทศ (Exchange)

EHR หรือ EMR อาจรรวมข้อมูลหลากหลาย ที่เกี่ยวกับประชากรศาสตร์ (Demographics) ประวัติการรักษา การให้ยา (Medication) และการแพ้ (Allergies) การฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunization) ผลตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ (Laboratory results) ภาพถ่ายเอกซเรย์ สัญญาณชีพ (Vital signs) สถิติส่วนบุคคล อาทิ อายุ น้ำหนัก และส่วนสูง

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในสหรัฐอเมริกา จะเริ่มใช้ระบบแยกประเภทโรคสากล (International of Diseases : ICD) ฉบับทบทวนที่ 10 โดยมีการปรับปรุงการลงรหัสทุกการวินิจฉัยโรคและหัตถการ (Clinical Modifications : CM) เรียกว่า ICD-10-CM ซึ่งจะทดแทน ICD-9-CM ที่ใช้กันในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน EHR หรือ EMR ทำให้การใช้กระดาษเริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัย และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ICD ก็มีผลกระทบอย่างแรงต่อแผนกเวชระเบียนของทุกโรงพยาบาล การเบิกจ่าย/เบิกคืน (Re-imbursement) ของ/จากบริษัท/องค์กรประกันสุขภาพ นักวิจัยที่ต้องอาศัยสารสนเทศดังกล่าว ฯลฯ ทั่วทั้งอุตสาหกรรม

จำนวนบุคลากร และการจัดองค์กรของแผนกเวชระเบียน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และขนาดของโรงพยาบาล โดยมีหน้าที่ดังนี้ (1) สร้างแม่แบบดัชนีผู้ป่วย (Master patient index : MPI) (2) ทำแฟ้มประวัติผู้ป่วย [ในประเทศไทยใช้ HN = Hospital No.] (3) ทำสำเนาข้อมูล (4) สรุปข้อมูล (5) ให้ข้อมูล (6) ลงรหัส ICD (7) รายงานเวชสถิติ และ (8) เก็บแฟ้มประวัติผู้ป่วยเข้ากรุ (Archiving)

แผนกเวชระเบียนรับผิดชอบต่อการมีข้อมูลผู้ป่วย พร้อมให้แก่ผู้ให้บริการ ในเวลาที่ต้องการ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงพยาบาล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาความลับของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. Nutritionist - http://en.wikipedia.org/wiki/Nutritionist