ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 83 : บทบาทเสริมของนักสังคมสงเคราะห์

นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical social worker) ยังมีบทบาทเสริมในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา (Consultant) และผู้ให้การศึกษา (Educator) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ผู้ให้คำปรึกษา

  • ปรึกษากับบุคลากรของโรงพยาบาลในการตัดสินใจเรื่องความเหมาะสม (Appropriateness) และการใช้ (Utilization) บริการสังคมสงเคราะห์
  • มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาทรัพยากรที่เหมาะสม (รวมทั้งบุคลากร) ที่จัดสรรให้กับการดูแลผู้ป่วย ให้ได้มาตรฐานของโรงพยาบาล
  • แจ้งให้ทีมรักษาทราบถึงสภาวะทางสังคมหรืออารมณ์ของผู้ป่วย และผลกระทบที่ปัจจัยเหล่านี้ อาจมีต่อความเร็วช้าของการหายป่วย (Recovery)

ผู้ให้การศึกษา

  • ช่วยเหลือผู้ป่วยเข้าใจการวินิจฉัยโรค และผลที่ตามมา (Implications) ความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องปรับตัว และการรับมือกับผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวทางอารมณ์ที่สืบเนื่องจากผลการวินิจฉัยโรค
  • จัดการฝึกอบรมภายใน (In-service) ให้กับแผนกอื่นๆ ในโรงพยาบาล และชุมชน เกี่ยวกับวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อความเข้าใจบทบาทที่ถูกต้อง
  • ให้การศึกษาผู้ป่วยและครอบครัวในเรื่องการปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น และการป้องกันที่สัมพันธ์กับความจำเป็นของผู้ป่วยในมิติของสภาพแวดล้อม (Person in environment)

ผู้ป่วยในมิติของสภาพแวดล้อม หมายถึง การมองว่าผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสภาพแวดล้อม (Environmental system) ที่รวมเอาความสัมพันธ์และอิทธิพลทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับแต่ละบุคคลและสภาพแวดล้อมทั้งกายภาพและสังคมของผู้นั้น ตามความคิดแต่ดั้งเดิมนั้น สถานพยาบาลจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างการรักษา (Curing) กับการดูแล (Caring)

การรักษา เป็นความพยายามแก้ไขสภาวะทางการแพทย์ แต่การดูแล เป็นการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อ (1) ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาการด้านสุขภาพที่ดี (2) บรรเทาความรุนแรงของปัญหาชั่วคราว และ (3) เพิ่มความสุขกายสบายใจเมื่อปัญหาสิ้นสุดลง

ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง สมาชิกของทีมทางการแพทย์ อาทิ แพทย์และพยาบาล จะมุ่งเน้นความต้องการทางอารมณ์ของผู้ป่วยและครอบครัว ในส่วนที่สัมพันธ์กับสภาวะทางการแพทย์ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Symbiosis) ระหว่างทีมบริการทางการแพทย์กับทีมสังคมสงเคราะห์ เป็นโอกาสทำให้ผู้ป่วยรับรู้เรื่องการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม และมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษา

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)