ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 81 : แผนกสังคมสงเคราะห์

รกรากของแผนกสังคมสงเคราะห์ (Social Services) ในสถานพยาบาลทุกวันนี้ สามารถย้อนรอยอดีตไปถึงคริสต์ ศตวรรษ 1700 และเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในราว ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) โดยนายแพทย์ Richard Cabot แห่งโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital สหรัฐอเมริกา ผู้เชื่อว่า ปัญหาส่วนตัวของผู้ป่วยมักเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเจ็บป่วย

หากนักสังคมสงเคราะห์ สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม (Appropriate) บุคลากรกลุ่มนี้ได้รับการฝึกอบรมให้เห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากของผู้ป่วย ในปี พ.ศ. 2450 Ida Cannon ชาวอเมริกัน ได้รับการว่าจ้างให้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical social worker) คนแรกของวงการ [และของโลกด้วย]

เธอมีพื้นฐานเป็นพยาบาลและได้ศึกษาทางด้านจิตวิทยา (Psychology) และสังคมวิทยา (Sociology) จึงทำให้เธอเข้าใจถึงประเด็นทั้งทางการแพทย์และทางจิตสังคม (Psychosocial) และเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมเอานักสังคมสงเคราะห์ เป็นสมาชิกหนึ่งของทีมรักษาผู้ป่วย ที่ทำงานร่วมกับทุกแผนกในโรงพยาบาล

เธอได้รับมอบหมายหน้าที่ 3 ประการ กล่าวคือ (1) รายงานให้แพทย์ทราบ ถึงสภาพทางบ้านและสังคมที่ผู้ป่วยประสบอยู่ (2) ช่วยผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ และ (3) เป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงพยาบาลกับทรัพยากรและองค์กร์ต่างๆ ในชุมชน กล่าวคือนอกจากบทบาทในโรงพยาบาลแล้ว เธอยังมีบทบาทสำคัญในชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยอีกด้วย

ในสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งนี้อาจรายงานต่อฝ่ายธุรการในโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือสถานพยาบาลระยะยาว (Long-term care) แต่อาจเป็นหน่วยงานเอกเทศในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีทีมงานซึ่งปกครองโดยผู้มีทักษะความชำนาญโดยตรง (Credential) ในระดับบริหาร ที่ต้องมีใบอนุญาต (License) รับรองวิชาชีพ

พื้นฐานการศึกษาของวิชาชีพนี้ ต้องจบระดับปริญญาตรี ในกรณีที่รับผิดชอบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาล (Discharge planning) บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitative services) การผ่าตัดลดความอ้วน (Bariatric procedure) การให้การศึกษาแก่ผู้ป่วย และการเป็นผู้สนับสนุน (Advocacy) บริการสังคมสงเคราะห์

พื้นฐานการศึกษาของวิชาชีพนี้ ต้องจบระดับปริญญาโท ในกรณีที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา อาทิ การบาดเจ็บสาหัส (Trauma) โรคไต (Renal disease) โรคมะเร็ง (Oncology) สุขภาพจิต (Mental health) และกรณีฉุกเฉิน(Emergency) ซึ่งต้องเข้าใจสุขภาพพฤติกรรม (Behavioral health) รวมทั้งนโยบายและระบบของการดูแลสุขภาพ

หลังการทดสอบระดับชาติ (National examination) แล้ว การต่ออายุใบอนุญาต ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนชั่วโมงศึกษาต่อปี) เพื่อให้มั่นใจในเรื่องความสามารถ (Competency) ในเชิงปฏิบัติการ และมักเป็นข้อกำหนดของบริษัท/องค์กรประกันสุขภาพ ในกรณีที่จะขอเบิกจ่าย (Re-imbursement) จากบริษัท/องค์กรดังกล่าว

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)