ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 79 : ปฎิบัติการนักแก้ไขการพูดและภาษา

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจประสบการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของการสื่อสารเนื่องจากการรับรู้ที่เสื่อมลง จนเป็นความผิดปรกติ (Cognition-communication disorder : CCD) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยที่สมองได้รับบาดเจ็บร้ายแรง (Trauma brain injury) หรือโรคสมองเสื่อม (Dementia)

ในกรณีดังกล่าว นักแก้ไขการพูดและภาษา (Speech-language pathologist : SLP) จะตรวจสอบขอบเขตของการคิด (Thinking) อันได้แก่ สมาธิ (Attention) การปรับตัว (Orientation) ความจำ (Memory) การจัดระเบียบ (Organization) การจัดลำดับ (Sequencing) การแก้ปัญหา (Problem-solving) และการใคร่ครวญเหตุผล (Reasoning)

ผู้ป่วยที่หย่อนสมรรถภาพยังไม่มาก (Mild impairment) อาจต้องลงมือปฏิบัติการรับรู้ในระดับสูง [ในเชิงป้อง กัน] โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงซ้อน (Complex) ข้อมูลที่ได้จากการประเมินการรับรู้ดังกล่าว จะทำให้นักแก้ไขการพูดและภาษาเข้าใจความสามารถของผู้ป่วยในการประกอบกิจกรรมอย่างปลอดภัยในชีวิตประจำวัน อาทิ การลดความเสี่ยงจากการหกล้ม

การดัดแปลงห้องผู้ป่วยที่บ้านให้เหมาะสม อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่พอช่วยตัวเองได้ ส่วนผู้ป่วยอื่นอาจต้องการการดูแลหรือความช่วยเหลือตลอดเวลา นักแก้ไขการพูดและภาษา ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นทีมในการตัดสินใจว่า แผนงานอะไรที่ดีที่สุดสำหรับความปลอดภัยของผู้ป่วยในความดูแลของตน

การบำบัดของ CCD มักมุ่งเน้นในจุดที่ชดเชยสมรรถภาพการรับรู้ที่หย่อน และการฟื้นฟูสมาธิ ความจำ และทักษะที่จำเป็นเพื่อการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผล ส่วนผู้ป่วยด้วยโรคที่มีวิวัฒนาการ (Progressive) อาทิ อัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) นั้น การรักษาอาจต้องมุ่งเน้นการจัดการกับพฤติกรรม และการดำรงไว้ซึ่งทักษะการสื่อสารให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สำหรับการประเมินการกลืน (Swallow) โดยเฉพาะ ณ ข้างเตียงผู้ป่วย อาจใช้วิธีการกลืนสารแบเรียม (Barium) เพื่อเคลือบอวัยวะในการถ่ายเอ็กซเรย์หรือการส่องกล้อง (Endoscope) ในการประเมินความสามารถของผู้ป่วยในเรื่องการกลืนอาหาร ระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารอยู่ แต่ถ้ามีความกังวลว่าผู้ป่วยอาจสำลัก ก็อาจให้สารอาหาร [เหลว] แทน

นักแก้ไขการพูดและภาษา จะมองหา ฟัง และสัมผัสความรู้สึก ที่เป็นสัญญาณของความลำบากในการกลืนก่อน ระหว่าง และหลังการเคี้ยวอาหารแต่ละคำ หรือการดื่มของเหลวแต่ละจิบ อาหารอ่อนที่ง่ายต่อการเคี้ยว อาทิ โจ๊ก ข้าวต้ม และอาหารกึ่งแข็ง อาทิ เนื้อและผัก จะต้องได้รับการประเมินในแง่ของความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณค่าทางโภชนาการ

นอกจากนี้ นักแก้ไขการพูดและภาษายังต้องสังเกตการดื่มของเหลวที่มีระดับความข้นต่างๆ เพื่อดูว่าผู้ป่วยสามารถกลืนได้ง่ายหรือลำบาก ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการนำของเหลวผ่านช่องทางหายใจ (Airway) ของผู้ป่วย ยังผลให้เกิดปอดบวม/ปอดอักเสบ (Pneumonia) แก่ผู้ป่วยได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)