ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 78 : กระบวนการนักแก้ไขการพูดและภาษา

ภายในระบบของโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยจะได้รับบริการจากนักแก้ไขการพูดและภาษา (Speech-language pathologist : SLP) ก็ต่อเมื่อมีการส่งต่อ (Refer) จากแพทย์เท่านั้น พยาบาลหรือนักบำบัดอื่นๆ อาจสังเกตอาการผิดปรกติของการพูดหรือการกลืน แล้วแนะนำให้ส่งต่อ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของแพทย์ จึงจะเริ่มการให้บริการได้

นักแก้ไขการพูดและภาษา จะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบบันทึกหรือ เวชระเบียน (Chart) ผู้ป่วย และประวัติย้อนหลัง (Medical history) รวมทั้งการแพ้ (Allergies) และเหตุผลของการส่งต่อ จากนั้นจะพูดคุยกับพยาบาลหรือนักบำบัดอื่นๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาการปัจจุบันของผู้ป่วย และเข้าใจภาพรวมว่า จะแก้ไขการพูดและภาษาอย่างไร

หลังจากนั้นก็จะเริ่มสนทนากับผู้ป่วย โดยต้องสร้างไมตรีจิต (Rapport) กับผู้ป่วยระหว่างสนทนา เพื่อค้นหาปัญหาในมุมมองของผู้ป่วย ประเมินทักษะการสื่อสารการรับรู้ (Cognitive) ของผู้ป่วย และเห็นจุดเด่นและจุดด้อยของผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนจะสรุปความคิดเห็นว่า การประเมินประเภทไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด

การประเมินส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบการเคลื่อนไหวในการพูด (Motor speech) และประเมินโครงสร้างของระบบการพูดและการกลืน ซึ่งหย่อนสมรรถภาพ (Impair) ลงเนื่องจากความเสียหายต่อระบบประสาท (Neurological damage)

จากนั้นจะประเมินกล้ามเนื้อที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ขากรรไกร เพดานปาก (Palate) และกล่องเสีย (Larynx) ในเรื่องความสมมาตร (Symmetry) ความรู้สึก (Sensation) และช่วงการเคลื่อนไหว (Range of motion) แล้วนักแก้ไขการพูดและภาษา ก็จะประเมินเฉพาะเจาะจงลงไปถึงการพูด ภาษา การรับรู้ และการกลืน ตามที่อ้างถึงในรายงานส่งต่อ

การประเมินดังกล่าว อาจมีการทดสอบที่เป็นมาตรฐาน (Standardized) หรือไม่เป็นมาตรฐานของมาตรการพูดและภาษา ซึ่งการประเมินจะปรับโครงสร้าง ที่รวบรวมมาตรการปฏิบัติงาน (Performance measure) สำหรับงานสื่อสารต่างๆ นานา อาทิ การตอบคำถามใช่หรือไม่ใช่ การปฏิบัติตามคำสั่ง การระบุชื่อของวัตถุ และการอธิบายรูปภาพ

นอกจากนี้ การตรวจสอบการพูดและภาษา ยังรวมถึงการประเมินความสามารถของผู้ป่วย ในการอ่านและเขียน ถ้าสมรรถภาพของการสื่อสารหย่อนลงมาก ก็ต้องประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการใช้รูปแบบอื่นในการสื่อสาร อาทิ การแสดงอากัปกิริยา (Gesture) หรือการชี้เฉพาะเจาะจง (Pinpoint) ภาพบนกระดานสื่อสาร (Communication board)

การเรียนรู้จุดเด่นและจุดด้อยของผู้ป่วยดังกล่าว จะทำให้นักแก้ไขการพูดและภาษา สามารถกำหนดเป้าหมายของการบำบัด และแจ้งให้ญาติผู้ป่วยทราบถึงวิธีการที่จะอำนวยความสะดวกในการสื่อสาร การบำบัดอาจรวมถึงการปรับปรุงทักษะการสื่อสารในแต่ละคาบ (Session) ทุกวัน ผ่านการจำลองรูปแบบหลากหลายของภาษาหรือกิจกรรมสื่อสารต่างๆ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)