ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 72 : ฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ

ระบบดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกา เป็นต้นกำเนิดของวิวัฒนาการระบบดูแลทางเดินหายใจ (Respiratory care) และฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory therapy) ที่พบเห็นในสถานพยาบาลปัจจุบัน ความเจริญทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ในโลกตะวันตกในคริสต์ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493) นำไปสู่ความก้าวหน้าของเครื่องมือ (Modality) และการบำบัดทางเดินหายใจ ยังผลให้มีการดำเนินการสรรหาบุคลากร ที่มีทักษะและความชำนาญเฉพาะทาง เพื่อสนองความต้องการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล

รูปแบบ (Model) ส่วนใหญ่ของการดูแลสุขภาพในยุโรปในสมัยเดียวกันนั้น มิได้มีการแยกแยะหน่วยงานนี้ออกมาต่างหาก แต่การศึกษาวิจัยในเวลาต่อมา ก็ยืนยันผลลัพธ์ (Outcome) ของผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จ เมื่อมีการดำเนินการในรูปแบบอเมริกัน ทั้งในการใช้เครื่องมือและนักบำบัดทางเดินหายใจ

ในสหรัฐอเมริกา สถานพยาบาลที่ดูแลการบำบัดทางเดินหายใจ ต้องได้รับการรับรองคุณภาพ (Accreditation) และผู้ปฏิบัติงาน (Practitioner) ต้องมีคุณสมบัติ (Credential) ที่เหมาะหลังการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการของนักบำบัดทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบริการสนับสนุน (Ancillary service)

ฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ มักเป็นหน่วยงานกลาง ภายในโครงสร้างของโรงพยาบาล แต่ก็มีบางหน่วยงานที่กระจายอำนาจไปตามจุดที่ให้บริการ ไม่ว่าจะใช้โครงสร้างรูปแบบ (Configuration) ใด การตรวจวิเคราะห์และการบำบัด ต้องเป็นบริการที่ได้มาตรฐานเดียวกัน เพียงแต่อาจใช้ชื่อที่แตกต่างกัน อาทิ บริการ [บำบัด] หัวใจและปอด (Cardio-pulmonary service)

โดยทั่วไป พันธกิจของฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ คือการให้บริการต่อเนื่อง (Continuum) ในการดูแลผู้ป่วยบนพื้นฐานการปฏิบัติตามหลักฐานที่ประจักษ์ (Evidence-based practice : EBP) ภายในระบบการบำบัดผู้ป่วย ซึ่งบันทึกผลลัพธ์เป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของบริการการบำบัดทางเดินหายใจเพื่อการรักษา (Intervention)

นักบำบัดทางเดินหายใจ ช่วยเหลือแพทย์และสมาชิกอื่นๆ ในทีมการดูแลสุขภาพ ในการกำหนดการตรวจวิเคราะห์และการบำบัดที่เหมาะสม (Appropriate) ที่สุด โดยยึดถือความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ในการปฏิบัติงาน ติดตามข้อมูลและนวัตกรรมล่าสุด และสร้างความพึงพอใจให้ผู้ป่วยในการให้บริการ

โดยลักษณะงานของการบำบัดทางเดินหายใจที่ต้องให้คำปรึกษา (Consultation) ร่วมกับแพทย์ นักบำบัดทางเดินหายใจ ต้องมีภาวะผู้นำสูง มีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีม ศึกษาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มคุณสมบัติวิชาชีพขั้นก้าวหน้า (Advanced credential) จึงจะได้มาตรฐานคุณภาพทั้งในการตรวจวิเคราะห์และการบำบัดรักษา

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)