ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 71 : สภากายภาพบำบัดไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฟื่อง สัตย์สงวน (บิดาแห่งวงการกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกายภาพบำบัดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2508 โดยขึ้นอยู่กับภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัย มหิดล) และได้มีวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขากายภาพบำบัด ออกมารับใช้สังคมเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2510

ในรอบ 20 ปีแรก วิชาชีพกายภาพบำบัดของไทยนั้น ได้มีการพัฒนาเป็นไปตามลำดับ ซึ่งสถาบันที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย โรงเรียนกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิต สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของสมาชิกกายภาพบำบัด และตัวนักกายภาพบำบัดเอง ที่กระจายกันทำงานอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในสมัยนั้น ได้มีนักกายภาพบำบัดที่เรียนจบแล้วออกไปรับใช้สังคมประมาณ 231 คน ใน 36 จังหวัด และโรงพยาบาล 70 แห่ง

ความก้าวหน้าของวิชาชีพกายภาพบำบัด ดำเนินไปใน (1) ด้านวิชาการหรืองานวิจัย โดยมีการประชุมวิชาการ หรือเปิดอบรมระยะสั้นมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ (2) ด้านการประกอบวิชาชีพส่วนตัวก็เป็นอาชีพอิสระ เปิดคลินิกส่วนตัวได้ เพราะรองรับด้วยพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 และในขณะนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ยังมีความต้องการนักกายภาพบำบัด ไปประจำทำงานอีกมาก

พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มี “สภากายภาพบำบัด” (Physical Therapy Council) เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ (1) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (2) ควบคุม กำกับ ดูแล และกำหนดมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (3) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัด (4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องกายภาพบำบัดและการสาธารณสุข (5) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องงานกายภาพบำบัดและการสาธารณสุข (6) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก (7) ผดุงไว้ซึ่งสิทธิ ความเป็นธรรม และส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก และ (8) เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดของประเทศไทย

สภากายภาพบำบัดมีอำนาจหน้าที่ (1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (2) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพกายภาพบำบัดของสถาบันต่างๆ (3) รับรองหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ ของวิชาชีพกายภาพบำบัดของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมดังกล่าว (5) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการฝึกอบรม (6) ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดสาขาต่างๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพกายภาพบำบัด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.pt.or.th/ [2013, June 15].