ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 68 : คุณสมบัติของนักกายภาพบำบัด

ในสหรัฐอเมริกา นักกายภาพบำบัด (Physical therapist : PT) เป็นวิชาชีพที่มีระดับการศึกษาสูง ในระดับปริญญาเอก (Doctor of Physical Therapy : DPT) ที่ต้องเรียนอีก 3 ปีหลังจบปริญญาตรี ซึ่งใกล้เคียงกับสาขาจิตวิทยาคลินิก (Clinical psychology) เภสัชกรรมคลินิก (Clinical pharmacy) อาชีวบำบัด (Occupational therapy) และการพยาบาล (Nursing)

นักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ ก็มีหลักสูตรระดับปริญญาเอกเช่นกัน อาทิ โสตสัมผัสวิทยา (Audiology) และทัศนมาตรศาสตร์ (Doctor of Optometry : OD) [OD มิใช่จักษุแพทย์ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในคลินิกสายตาและระบบการเห็น (ประกอบแว่นตา) สำหรับในประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในสาขานี้คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง]

ผู้สมัครเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาเอกกายภาพบำบัด ในสหรัฐอเมริกา ต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ซึ่งได้จำนวนหน่วยกิตทางวิทยาศาตร์และศิลปศาตร์ตามที่กำหนด ในหลักสูตร จะกำหนดให้มีประสบการณ์ทางคลินิกภายใต้การกำกับอย่างใกล้ชิด (Supervised clinical experience) ในสถานพยาบาลต่างๆ กัน

ส่วนผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด (PT assistant : PTA) จะต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา (Associate degree) กล่าวคือ 2 ปี หลังจากจบมัธยมปลาย และต้องมีประสบการณ์ทางคลินิกภายใต้การกำกับอย่างใกล้ชิด หลังสำเร็จการศึกษา ทั้ง PT และ PTA ต้องผ่านการทดสอบของคณะกรรมการกายภาพบำบัดแห่งชาติ (National Physical Therapy Examination) จึงจะได้รับใบอนุญาต (License) เป็น PT และ PTA ตามลำดับ

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนี้มีอายุเพียง 2 ปี การต่ออายุได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากสถาบันที่ให้การฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน โดยมีคณะกรรมการรับรองการศึกษากายภาพบำบัด (Commission on Accreditation in Physical Therapy Education) อันเป็นองค์กรที่รับรองคุณภาพการศึกษาของ PT และ PTA

ทั้ง PT และ PTA ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แผนกกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล มักสนับสนุนโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานคุณภาพของคณะกรรมการร่วมรับรองคุณภาพองค์กรดูแลสุขภาพ (Joint Commission on the Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO)

หัวหน้าฝ่ายกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล มักเป็นนักกายภาพบำบัด (PT) แต่ในโรงพยาบาลบางแห่ง หน่วยงานนี้อาจรวมกับบริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation services) ในกรณีเช่นนั้น หัวหน้าฝ่ายอาจเป็นนักอาชีวบำบัด (Occupational therapist) หรือ นักแก้ไขการพูด (Speech therapist) ก็ได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)