ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 67 : บทบาทของนักกายภาพบำบัด

กรณีที่ต้องทำกายภาพบำบัด (Physical therapy) ผู้ป่วยมักต้องนอนพักรักษาตัวยาวนานอยู่ในโรงพยาบาล และต้องถูกจำกัดกิจกรรมด้วยการให้นอนแต่บนเตียง จนกว่าจะฟื้นฟูเต็มที่ (Recovery) แพทย์จึงจะให้กลับบ้านได้ (Discharge) แต่ในปัจจุบัน การนอนในโรงพยาบาลลดน้อยไปมาก เพราะผู้ป่วยได้รับการเคลื่อนย้ายไปพักฟื้น ณ สถานพยาบาลอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สนับสนุนคุณประโยชน์จากการให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวแต่เนิ่นๆ แทนที่จะนอนเตียงเฉยๆ ขึ้นอยู่กับอาการต่างๆกันของผู้ป่วย นักกายภาพบำบัดใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วย แล้วยังมีการวิจัยต่างๆ อีกด้วย แต่บริการหลักของกายภาพบำบัดยังคงเป็น การดูแลผู้ป่วย (Patient care)

นักกายภาพบำบัดทำงานร่วมกับนักวิชาชีพฟื้นฟู (Rehabilitation professionals) อื่นๆ รวมทั้ง นักอาชีวบำบัด (Occupational therapist) และนักแก้ไขการพูด (Speech therapist) เนื่องจากความซับซ้อนของลักษณะงานดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในบริบทของโรงพยาบาล นักกายภาพบำบัด ต้องเป็นนักสื่อสารและนักประสานงาน

ผู้ที่นักกายภาพบำบัดต้องมีปฏิสัมพันธ์ (Interface) ด้วยได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักบำบัดการหายใจ (Respiratory therapist) นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical social worker) และผู้จัดการกรณี (Case manager) ฯลฯ ซึ่งต้องทำงานเป็นทีมร่วมกันและเห็นภาพรวมของสถานะผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสมที่สุด (Optimal)

นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดยังต้องให้การฝึกอบรมผู้ป่วย อาทิกลไก (Mechanics) ของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับความปลอดภัยของกระดูกสันหลังและหลัง การยกของหนักระหว่างทำงาน และวิธีที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนย้าย (Transfer) จากพื้นที่ราบหนึ่งไปยังอีกพื้นที่ราบหนึ่ง อาทิ การย้ายผู้ป่วยจากเตียงนอนหนึ่ง ไปยังอีกเตียงนอนหนึ่ง หรือการย้ายจากเตียงนอนไปยังรถเข็น การย้ายจากรถเข็นไปยังห้องน้ำ หรือการเคลื่อนย้ายจากรถเข็นนั่งประจำ สลับกลับไปลุกขึ้นยืน เป็นต้น

นักกายภาพบำบัดอาจมีส่วนร่วมในการบริหารผลลัพธ์ (Outcome) ทางการแพทย์ สำหรับบางประเภทของปัญหาผู้ป่วยหรือการวินิจฉัย อาทิ การหกล้ม หรือเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และในการศึกษาวิจัยผลลัพธ์ทางการแพทย์ นักกายภาพบำบัดยังอาจทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในด้านอื่นๆ อาทิ การบริหาร การวิจัย การศึกษา และการให้คำปรึกษา

ในด้านบุคลากร ยังมีผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด (PT assistant : PTA) เป็นบุคลากรสนับสนุน ตำแหน่งนี้ในสหรัฐอเมริกา ต้องได้รับฝึกอบรม และได้ใบอนุญาต (License) สามารถให้การบำบัดรักษา (Intervention) ภายใต้การกำกับและควบคุมดูแลโดยนักกายภาพบำบัด (PT) อีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยฝึกหัด (Aide) ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่สามารถทำงานประจำวัน (Routine) ในการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและเตรียมบริเวณกายภาพบำบัด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)