ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 65 : สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคไทย

การใช้รังสีในการแพทย์ มีบาทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยทั่วโลกในการวินิจฉัยและรักษาโรค แต่ก็มีความเสี่ยงจากรังสี ดังกล่าว โรงพยาบาลจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และประเมินเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนสร้างความมั่นใจในคุณสมบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทักษะและความชำนาญในการตรวจ อ่านผล บำบัด และรักษา

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา มีจำนวนมาก นอกจากแพทย์และนักรังสีเทคนิคแล้ว ก็ยังมีพยาบาล ผู้ประสานงานการดูแลผู้ป่วย และผู้บริหารการดูแลผู้ป่วย การใช้สารกัมมันตรังสี ก็ต้องมีผู้ที่กำกับดูแล แนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและคำแนะนำในเรื่องมาตรการต่างๆ การรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพรังสีเทคนิคจึงมีความสำคัญยิ่ง

แต่การรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค (Radiological Council) ในประเทศไทย ยังไม่สำเร็จ เพราะขาดเอกภาพเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ อาทิ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม และสภาเทคนิคการแพทย์ ปัจจุบันจึงยังคงอยู่ในรูปของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (Thai Society of Radiological Technologists : TSRT)

ตามประวัติศาสคร์ ย้อนหลังไปในอดีตเมื่อราว พ.ศ. 2506 ได้เกิดโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ [หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน] โรงเรียนรังสีเทคนิคได้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นที่ 1 จำนวน 11 คน และสำเร็จการศึกษา เมื่อปี 2510

หลังจากที่บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นแรกสำเร็จออกไปทำงานแล้ว เวลาผ่านไปอีกประมาณ 5 ปี ได้มีประชุมกันเพื่อหาแนวทางในการรวมตัวกันเป็นสมาคมวิชาชีพ และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยได้ วันที่ 27 กรกฎาคม 2516 และอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ได้มีการประชุมใหญ่สามัญของสมาคมฯ เป็นครั้งแรก

กิจการของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยก็ได้เริ่มอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้นมา โดยเน้นหนักหลักสูตรการศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ การฝึกอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ การประสานงานกิจกรรมต่างๆ เป็นเครือข่าย และประชุมวิชาการในแต่ละปี เพื่อเพิ่มทักษะความชำนาญ ให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาการ

ส่วนการสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น หากมีสภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเกิดขึ้น นักรังสีเทคนิคก็จะก้าวสู่การเป็นวิชาชีพที่กฎหมายเปิดโอกาสให้คนในวิชาชีพดูแลกันเอง

สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคควรเป็นองค์กรอิสระ แต่มีอำนาจตามกฎหมายในการปกป้องผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัย จากวิถีปฏิบัติของการใช้รังสี เครื่องมือฉายรังสี และการใช้สารกัมมันตรังสี รวมทั้งการขึ้นทะเบียนรับรองวิทยฐานะ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย - http://www.tsrt.or.th/ [2013, May 4].