ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 63 : บุคลากรฝ่ายรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา

บุคลากรในฝ่ายรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา ประกอบด้วย 2 กลุ่ม โดยที่กลุ่มแรกเป็นรังสีแพทย์ (Radiologist) ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านผล (Interpretation) ภาพถ่าย (Images) ของร่างกายจากเครื่องมือ (Modality) ต่างๆ อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ (X-ray) เครื่องซีทีสแกน (CT Scanner; CT = Computed Tomography) และอุลตราซาวด์/อัลตราซาวด์ (Ultrasound) รังสีแพทย์ใช้ภาพเหล่านี้ในการวินิจฉัยโรค และแพทย์อื่นๆ ก็ใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการบำบัดรักษา

เช่นเดียวกับแพทย์สาขาอื่นๆ รังสีแพทย์ต้องสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ แล้วใช้เวลาอีกหลายปี เป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency) ในสาขารังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) รับผิดชอบต่อการอ่านผลจากรังสีวินิจฉัย จนกว่าจะสอบผ่าน จึงมีความรับผิดชอบถึงที่สุดต่อความถูกต้องแม่นยำของการวินิจฉัยโรค

กลุ่มที่ 2เป็นนักรังสีเทคนิค (Radiological technologist : RT) ผู้ปฏิบัติงานในการถ่ายภาพด้วยเครื่องตรวจนานาชนิด วิชาชีพนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้มีทักษะความชำนาญในการถ่ายภาพอย่างถูกต้องแม่นยำ ตามความต้องการของรังสีแพทย์ หรือแพทย์ดูแลผู้ป่วย (Attending physician) และจัดท่า (Position) ผู้ป่วยให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูง โดยผู้ป่วยได้รับรังสีในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจดูแลผู้ป่วยอย่างเอื้ออาทร

นักรังสีเทคนิค ต้องได้รับการศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) และสรีรวิทยา (Physiology) การดูแลและการสื่อสารกับผู้ป่วย ความปลอดภัยและการป้องกันรังสี กฎหมายที่เกี่ยวกับการแพทย์ ฯลฯ ในสหรัฐอเมริกา บัณฑิตรังสีเทคนิค ต้องผ่านการทดสอบรับรองวิทยฐานะ โดยขึ้นทะเบียนกับสถาบันอเมริกันสำหรับนักรังสีเทคนิค (American Registry of Radiological Technology) แล้วได้รับอักษรย่อต่อท้ายชื่อว่า RT

หลังจากนั้น RT จำนวนมาก เลือกที่จะศึกษาต่อเพื่อให้ได้การรับรองความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของรังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) และรังสีรักษา (Therapeutic radiology) อาทิ ซีทีสแกน เอมอาร์ไอ (MRI = Magnetic Resonance Imaging) เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine : NM) และการตรวจเต้านม (Mammography)

เครื่องมือ (Modality) ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ แต่ละชนิด ต้องการบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม สร้างเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ทั้งรังสีแพทย์ที่จะอ่านผล และนักรังสีเทคนิคที่จะลงมือถ่ายภาพ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียน (License) เพื่อรับรองความรู้และความชำนาญในสาขาเฉพาะทาง

ทักษะขั้นพื้นฐานของการใช้เครื่องเอกซ์เรย์ อาจเพียงพอสำหรับการค้นหากระดูกหัก หรือสาเหตุของบางกลุ่มอาการ อาทิ การหายใจลำบาก แต่ถ้าผู้ป่วยมาพร้อมกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ และเลือดออกภายในร่างกาย (Internal bleeding) แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยอาจสั่งให้ทำ ซีทีสแกน ซึ่งต้องอาศัยทักษะขั้นสูงในการเอื้ออำนวยให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และป้องกันมิให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed).Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)