ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 61 : เครื่องมือรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา (1)

การถ่ายภาพ (Radiography) เป็นหัตถการ (Procedure) ที่คนส่วนมากจะคิดถึง เมื่อแพทย์สั่งให้ผู้ป่วยไปเอ็กซ์เรย์(X-ray) เครื่องมือชนิดแรกที่มีมาแต่ดังเดิม คือเครื่องเอ็กซ์เรย์ซึ่งยังคงเป็นเครื่องยอดนิยมไปทั่วโลก มาจนถึงปัจจุบัน ผลลัพธ์ คือแผ่นฟิล์ม 2 มิติสีขาวดำ (Radiograph) ของอัวยวะร่างกายของผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการค้นหาสาเหตุของโรค

ส่วนผู้ป่วยควรได้รับการถ่ายภาพในปริมาณรังสี (Dose) ระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เอ็กซ์เรย์ใช้ในการตรวจทรวงอก (Chest radiography) เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นใช้ตรวจค้นหากระดูกที่แตกร้าว/หัก (Fracture) สิ่งแปลกปลอม (Foriegn object) ที่เข้าสู่ร่างกาย หรือกายวิภาคภายใน (Internal anatomy)

นอกจากเครื่องเอ็กซ์เรย์แล้วยังมีเครื่องตรวจอวัยวะภายใน ด้วยเงาเอ็กซ์เรย์บนจอเรืองแสง (Fluoroscopy) วิธีการนี้คล้ายกับการเอ็กซ์เรย์แต่แทนที่จะถ่ายที่ภาพอย่างรวดเร็ว (Snapshot) เครื่องนี้อาศัยการไหลอย่างต่อเนื่องของเอ็กซ์เรย์ในการมองภาพในเวลาจริง (Real time)

ผลลัพธ์ที่ได้สามารถใช้มองเห็น (Visualize) การทำงานของอวัยวะ เพื่อค้นหาความผิดปรกติ หรือช่วยในการทำหัตถการทางการแพทย์ อาทิ การชัณสูตรที่นำทางด้วยภาพถ่าย หรือการวางเครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

นวัตกรรมเทคนิคเอ็กซ์เรย์ มีบทบาทสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และความสามารถในการตรวจวิเคราะห์โรคแต่เนิ่นๆ และแม่นยำ รวมทั้งเครื่องมือ (Modality) ใหม่ๆ เอื้ออำนวยให้ภาพถ่ายชัดขึ้นและเฉพาะเจาะจง (Precise) มากขึ้น ทำให้แพทย์สามารถค้นหาและให้การบำบัดรักษาโรค ก่อนจะสายเกินแก้

เครื่องทีซีทีสแกน (ซีที = Computed Tomography ; สแกน = Scan ) สร้างภาพ 3 มิติจากภายในร่างกาย เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องเอ็กซ์เรย์ แบบดั้งเดิมแล้ว เครื่องทีซีสแกน สามารถผลิตภาพเอ็กซ์เรย์จำนวนมาก จากหลากหลายมุมมอง ณ จุดเดียวกันในร่างกาย จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะประมวลภาพเหล่านี้ เพื่อผลิตเป็นภาพที่มีรายละเอียด ทำให้แพทย์สามารถเห็นกายวิภาคจากทิศทางต่างๆ กัน เพื่อค้นหาโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่อาจค้นหาด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์ แบบดั้งเดิม

ในการเพิ่มความชัดของภาพที่ผลิตโดยซีทีสแกน ผู้ป่วยต้องนอนนิ่งๆ ระหว่างทำหัตถการ และปฏิบัติตามต้นแบบ (Protocol) ของการป้องกันการแผ่รังสี (Radiation) อย่างเคร่งครัด บางครั้งอาจจำเป็นต้องกลืนสารช่วยการมองเห็น (Contrast agent) ณ จุดที่ต้องการตรวจ ซึ่งปรกติจะเป็นช่วงท้อง (Abdomen) ทรวงอก (Chest) และกระดูกเชิงกราน (Pelvic)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)