ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 60 : ฝ่ายรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา

ผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า ตัวเองเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร แต่สามารถบอกได้ว่า ตนเจ็บปวดส่วนไหนของร่างกาย ฝ่ายรังสีวินิจฉัย(Diagnostic Imaging) และรังสีรักษา (Therapeutic radiology) เข้ามารับมือกับประเด็นนี้ได้ โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบดูแลสุขภาพ การใช้บริการรังสีวินิจฉัย มักช่วยให้แพทย์ได้มองเห็นสาเหตุการเจ็บป่วย

แพทย์มีทางเลือกของเทคนิคหลากหลายในการถ่ายภาพอวัยวะ ขึ้นอยู่กับส่วนไหนของร่างกายจะได้รับการตรวจค้นหา (Investigate) เพื่อให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำ ก่อนดำเนินการต่อไปยังขั้นต่อไปของการกำหนดวิธีบำบัดรักษา ซึ่งอาจรวมถึงรังสีรักษาด้วยก็ได้

ในภาพรวาม ฝ่ายรังสีวินิจฉัย และรังสีรักษา ให้บริการแก่ผู้ป่วย ตั้งแต่การวินิจฉัยการเจ็บป่วยระยะแรก ไปจนถึงการบำบัดรักษาโรค อาทิ โรคมะเร็งต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายภาพเพื่อดูและรักษาสรีสระภายใน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 เมื่อ วิลเลียม เริงต์เก็น (William Roentgen) ค้นพบรังสี X-ray เป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้รังสีวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น และการรังสีรักษาก็ทำได้รวดเร็วขึ้น สร้างความหวังในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ได้ทนทุกข์ทรมาณจากความหลากหลายของโรคมะเร็ง และทำให้โรคภัยไข้เจ็บลดความรุนแรง (Debilitating) ลง

พันธกิจของฝ่ายนี้ในโรงพยาบาล คือการให้บริการผู้ป่วยด้วยคุณภาพสูงและต้นทุนประหยัดของรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา โดยชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบถึงเรื่องหัตถการ (Procedure) ที่จะได้รับ รวมถึงความเสี่ยงเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยหรือการบำบัดรักษา

การให้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากโอกาสความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับรังสี อาทิ การทำลายพันธุกรรม (Genetic damage) และวิวัฒนาการของโรคมะเร็ง เนื่องจากความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ปฏิบัติงานให้บริการ ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและการป้องกันจากรังสี สำหรับตนเองและสำหรับผู้ป่วย

การปฏิบัติงานมักยึดหลักการของ ALARA (As Low As Reasonably Achievable) ซึ่งใช้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ว่าด้วยการฉายแสงผู้ป่วยในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา และก็เป็นหลักยึดถือที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน รังสีวินิจฉัยครอบคลุมหลากหลายเครื่องมือ (Modalities) ซึ่งแต่ละชนิด ต้องอาศัยทักษะความชำนาญเฉพาะของผู้ให้บริการและการอ่านผล (Interpretation) จากภาพถ่าย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)