ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 58 : สภาเทคนิคการแพทย์ไทย

ในระยะแรกของการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 โดยมีคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน และไม่ให้มีผู้แสวงหาผลประโยชน์หรือใช้วิชาชีพโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน

ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาต่างๆ เพื่อให้การประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นองค์กรที่มีบทบาทควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และส่งเสริมความก้าวหน้าของวิชาชีพ

คณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคนิคการแพทย์ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ และยังควบคุม ส่งเสริม พัฒนาและกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ การดำเนินงานของคณะกรรมการวิชาชีพดังกล่าวในเวลานั้น ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ

ต่อมา ได้มีการออกพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2547 โดยแยกอำนาจการควบคุมการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกจากอำนาจของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ และให้มีสภาเทคนิคการแพทย์ (Medical Technology Council) ทำหน้าที่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพ กำหนดและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

มาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2544 เป็นฉบับแรกที่ได้ใช้สาระสำคัญจาก ISO 15189 ฉบับปี ค.ศ. 2000 เป็นหลัก ประกอบด้วยมาตรฐาน ISO 9001 ฉบับปี ค.ศ. 2000 เช่นกัน และมาตรฐานโรงพยาบาล ฉบับบูรณาการ พ.ศ. 2543 และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Clinical Laboratory) จัดตั้งระบบบคุณภาพ บำรุงรักษา และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคนิคการแพทย์ ได้ร่วมมือกับกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ในการปรับปรุงงานเทคนิคการแพทย์ ฉบับปี พ.ศ. 2547 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 15189 : 2003 และประกาศใช้มาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2547

ต่อมาทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวก็ได้มีการปรับปรุงงานเทคนิคการแพทย์อีกครั้งหนึ่ง ฉบับปี พ.ศ. 2551 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 15189 : 2007 และประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. มาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ - http://en.wikipedia.org/wiki/Dilation_and_evacuation [2013, March 28]