ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 57 : บุคลากรห้องปฏิบัติการ

บุคลากรในห้องปฏิบัติการมีหลายระดับชั้น เริ่มต้นที่ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Director of Clinical Laboratory) ที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติการ (Operations) ทั้งหมด และบริหารจัดการทั้งแผนกกายวิภาค (Anatomical) และแผนกคลินิก (Clinical) ของห้องปฏิบัติการ

ผู้อำนวยการมักเป็นแพทย์ที่ได้รับการรับรองด้านพยาธิวิทยา (Pathology) หากต้องทำหน้าที่ชัณสูตร (ตรวจเนื้อเยื่อและเซลล์ด้วย) หรือผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical) หรือชีวภาพ (Biology) ซึ่งได้รับการรับรองด้านจุลชีววิทยา (Microbiology) เคมีการแพทย์ (Clinical Chemistry) หรือ ชีววิเคราะห์ (Bio-analysis)

ในสหรัฐอเมริกา ระดับผู้จัดการในห้องปฏิบัติการมักสำเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (Laboratory science) ส่วนระดับปฏิบัติการ ต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านเทคนิคการแพทย์ (Medical Technology : MT) ซึ่งผ่านการสอบรับรองระดับชาติ (National certification examination) แล้ว

MT สามารถทำหน้าที่ทอดสอบในห้องปฏิบัติการได้ ไม่ว่าจะมีความซับซ้อนเพียงใด และสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะ เพียงขอบเขตงานเดียวในห้องปฏิบัติการ หลังจากได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม และสอบผ่านการรับรองวิทยฐานะ พร้อมประสบการณ์ ซึ่งสามารถชดเชยบางส่วนที่พร่องไปของพื้นฐานการศึกษา

เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากร เช่นเดียวกับพยาบาลและเภสัชกร จึงต้องมีการว่าจ้างผู้ช่วยนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งต้องมีอนุปริญญา (Associate degree) จากวิทยาลัยที่มีการรับรองมาตรฐาน และสอบผ่านการรับรองวิทยฐานะระดับชาติ ในประเทศไทย ไม่มีบุคลากรกลุ่มนี้ จึงต้องรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายด้านวิทยาศาสตร์ เข้ามาฝึกอบรมแท

น ผู้ช่วยนักเทคนิคการแพทย์ ที่มีประสบการณ์ระดับหนึ่งอาจทำหน้าที่ทดสอบในกรณีที่ไม่มีความซับซ้อน อาจทำหน้าที่เจาะและเก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วย (Phlebotomy) เพื่อการทดสอและตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ แต่ต้องได้รับการฝึกอบรมเพียงพอ จากโรงเรียนเทคนิค (Technical school) และขณะปฏิบัติงาน (On the job)

นอกจากนี้ ผู้ช่วยนักเทคนิคการแพทย์ ยังทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ล้างหลอดแก้ว (Tube) ทำความสะอาดบริเวณใช้ปฏิบัติงาน ดูแลวัสดุสิ้นเปลืองในคลัง และเก็บรวบรวมเอกสารให้เข้าที่

ในแผนกกายวิภาค (Anatomy) และแผนกเซลล์ (Cytology) ของห้องปฏิบัติการ ผู้ช่วยเทคนิคการแพทย์ ต้องได้รับการฝึกอบรมและสอบผ่านการรับรองวิทยฐานะ เพราะในแผนกแรก เขาอาจต้องตัดชิ้นเนื้อเยื่อ ป้ายย้อมสี (Stain) และวางบนสไลด์ และในแผนกหลัง เขาอาจต้องตรวจเซลล์ที่หลุดลอกเป็นแผ่น (Exfoliated) แต่ในทั้งสองกรณี จะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดโดยพยาธิแพทย์ต่อไป

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)