ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 56 : โปรแกรมปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในข้อกำหนดของการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ คือการมีโปรแกรมปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement) เพื่อส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพสูงสุดเกี่ยวกับผลการทดสอบตัวอย่าง/สิ่งส่งตรวจ (Specimen test) คุณสมบัติของบุคลากร การบริหารจัดการ การฝึกอบรม และบริการที่ให้แก่แพทย์และผู้ป่วย

การทดสอบในห้องปฏิบัติการต้องถูกต้องแม่นยำ ทันเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะผลการทดสอบมีบทบาทสำคัญต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์ ดังนั้นจึงต้องมีโปรแกรมปรับปรุงคุณภาพที่เป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากการอธิบายถึงการจัดองค์กร (Organization) ของห้องปฏิบัติการ เครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็น และการบำรุงรักษาและติดตามผลของเครื่องมือ

โปรแกรมยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของผู้ให้บริการแก่ห้องปฏิบัติการ (Suppliers/vendors) การควบคุมกระบวนการ การเก็บรักษาเอกสารและบันทึก การประเมินผลงาน (Performance) การเบี่ยงเบน (Deviation) จากมาตรฐานคุณภาพ และการแก้ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด (Non-conformance)

นอกจากนี้ โปรแกรมยังต้องสร้างความมั่นใจในการปรับปรุงกระบวนการตลอดเวลา อาทิ ต้องมีการประเมินและติดตามผลลัพธ์ (Outcome) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาโอกาสต่างๆ ของการปรับปรุง แล้ววางแผน ลงมือปฏิบัติ และบันทึก การปรับปรุงดังกล่าว

อันที่จริง โปรแกรมปรับปรุงคุณภาพ เป็นเรื่องของการควบคุมคุณภาพ ดังนั้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในโปรแกรมปรับปรุงคุณภาพอย่างเคร่งครัด จึงเป็นการตรวจสอบ (Verify) ความถูกต้องแม่นยำของผลการทดสอบ อาทิ ตัวอย่างที่ทราบค่า (ควบคุม) [Known value (Control)] ใช้ทดสอบกับตัวอย่างจากผู้ป่วย

ดังนั้น ข้อผิดพลาด (Error) ในกระบวนการตรวจวิเคราะห์จะถูกค้นพบ เมื่อค่าควบคุม (Control value) มิได้ตกอยู่ภายในช่วงแคบๆ ที่ยอมรับกัน (Narrow acceptable range) ได้ ส่วนค่าควบคุมที่ตกอยูนอกช่วงดังกล่าว แสดงว่ามีข้อผิดพลาดจากการวิเคราะห์เกิดขึ้นในระบบทดสอบ และอาจมีปัญหาเรื่องความแม่นยำของผลทดสอบของผู้ป่วยด้วย

การรายงานผลทดสอบของผู้ป่วย จะเกิดขึ้นมิได้จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากผลการควบคุมคุณภาพที่ยอมรับกันได้ และมีการบันทึกกิจกรรมควบคุมคุณภาพดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบ (Inspection) โดยผู้ตรวจสอบ (Auditor) จากองค์กรรับรองมาตรฐานคุณภาพ ในภายหน้า

ในด้านบุคลากร จะต้องมีพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ที่สร้างความมั่นใจในเรื่องความรู้และทักษะความชำนาญของผู้ปฏิบัติงานและปรับปรุงคุณภาพในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ตลอดเวลา

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)