ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 55 : การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ

การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ (Laboratory Accreditation : LA) แสดงถึงมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน โดยองค์กรที่รับรองคุณภาพ อาจเป็นได้ทั้งหน่วยงานรัฐและมิใช่รัฐ อาทิ สถาบันพยาธิแพทย์อเมริกัน (College of American Pathologist) ซึ่งอาจไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ แต่สามารถถอดถอนการรับรองได้ หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด

วิธีการรับรองคุณภาพนั้น เริ่มต้นด้วยการที่ห้องปฏิบัติการยื่นใบสมัครต่อองค์กรที่รับรองคุณภาพ จากนั้นทีมงานตัวแทนจากองค์กรดังกล่าว จะเข้าไปตรวจสอบ (Audit) ห้องปฏิบัติการ โดยมีการยืนยันความเหมาะสมของวิธีการตรวจวิเคราะห์ (Validated method) และการเลือกใช้เครื่องมือวัดที่ผ่านการสอบเทียบ (Calibrated equipment)

นอกจากการควบคุมคุณภาพภายใน (Internal quality control) แล้ว ห้องปฏิบิตการยังต้องมีการควบคุมคุณภาพภายนอก (External quality control) โดยเปรียบเทียบกับการทดสอบความชำนาญ (Proficiency test) ของห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการควบคุมคุณภาพภายนอก ผ่านการประสานงานขององค์กรที่รับรองคุณภาพ

จากนั้นทีมผู้ตรวจสอบ จะส่งรายงานของความแตกต่างที่พบ ระหว่างมาตรฐานที่กำหนดกับการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้ห้องปฏิบัติการส่งงานการแก้ไขและหลักฐานประกอบภายในเวลาที่กำหนด [อาจเป็น 1 – 3 เดือน] หลังจากสอบผ่านแล้ว องค์กรที่ให้การรับรองคุณภาพ จะออกประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพ ซึ่งปรกติจะมีอายุ 3 ปี

เมื่อครบกำหนด ต้องมีการขอต่ออายุ ซึ่งจะเข้าสู่วิธีการขอรับรองคุณภาพเหมือนครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกา นอกจากสถาบันพยาธิแพทย์อเมริกัน แล้วก็มีคณะกรรมการร่วมเพื่อรับรองคุณภาพองค์กรดูแลสุขภาพ (Joint Commission for Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO) ซึ่งรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ก็ทำหน้าที่รับคุณภาพของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้วย

ส่วนในประเทศไทย สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับรองคุณภาพและประสานงานการควบคุมคุณภาพภายนอก โดยห้องปฏิบัติการที่ขอรับรองคุณภาพ จะจัดส่งตัวอย่าง (Specimen) ที่แบ่งมาจากตัวอย่างเดียวกัน ไปยังห้องปฏิบัติการสมาชิกในโครงการเดียวกัน เพื่อให้สมาชิกตรวจวิเคราะห์ แล้วส่งผลภายในเวลาที่กำหนด เพื่อใช้ผลดังกล่าวในการเทียบเคียงมาตรฐาน (Benchmark)

ห้องปฏิบัติการ ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการให้บริการแก่แพทย์ และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ ด้วยผลการทดสอบที่มีคุณภาพ (กล่าวคือถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้) เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัย บำบัดรักษา และติดตามผล ในการบรรลุผลลัพธ์ (Outcome) ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)