ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 53 : การรับรองวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

ในสหรัฐอเมริกา มีแผนกที่ทำหน้าที่เจาะและเก็บตัวอย่างเลือด (Phlebotomy) จากผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยนอก แต่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง พยาบาลอาจทำหน้าที่นี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยใน สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีหลักสูตรเป็นทางการเพื่อฝึกอบรมผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ (Phlebotomist) จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรเป็นหน้าที่ของพยาบาล หรือนักเทคนิคการแพทย์ (Medical Technologist)

ผู้สำเร็จการศึกษาเทคนิคการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ต้องได้รับการรับรอง (Certified) จากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากในปี พ.ศ. 2531 สภาผู้แทนราษฎร (Congress) ได้ผ่านกฎหมายปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Clinical Laboratory Improvement Act : CLIA) เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

กฎหมาย CLIA เกิดขึ้นเพราะอุบัติการณ์ (Incident) ที่เกิดขึ้นหลายครั้งเกี่ยวกับผลการทดสอบโรคมะเร็งระยะแรก (Papanicolaou [Pap] smear) ที่ทำให้อ่านผิดหรือสับสน ยังผลให้เกิดการวินิจฉัยโรคผิดในผู้ป่วยมากราย ดังนั้นกฎหมายดังกล่าว จะกำหนดพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ทุกระดับชั้น

CLIA ยังกำหนดประเภทของการตรวจวิเคราะห์ ตามระดับความซับซ้อน (Complexity) การทดสอบอย่างง่าย ซึ่งไม่ต้องเตรียมตัวอย่าง/สิ่งส่งตรวจ (Specimen) หรือเตรียมตัวอย่างในปริมาณน้อย สามารถทำโดยบุคคลที่มิได้จบเทคนิคการแพทย์ อาทิ การทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด (Blood glucose) ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานใช้ในการเฝ้าระวังระดับดังกล่าว

ในกรณีการทดสอบที่ซับซ้อนปานกลางซึ่งต้องมีการเตรียมตัวอย่างบ้าง ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความชำนาญในห้องปฏิบัติการ และจบอย่างน้อยอนุปริญญาทางด้านวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (Laboratory science) เรียกว่า “นักเทคนิคห้องปฏิบัติการ” (Laboratory technologist)

ส่วนการทดสอบที่ซับซ้อนมาก ซึ่งต้องเตรียมตัวอย่างในปริมาณมาก และตีความผลลัพธ์ ผู้ปฏิบัติงาน ต้องจบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ (หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี) ส่วนผู้ให้บริการที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ในการตรวจวิเคราะห์ ในคลินิกแพทย์ (มิใช่ห้องปฏิบัติการ) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค จะต้องได้รับการรับรองความชำนาญเฉพาะการใช้กล้องดังกล่าว (Microscopy)

ส่วนห้องปฏิบัติการต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งมีอายุ 2 ปี ในการขอตรวจรับรองว่า ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ CLIA และจะได้รับประกาศนียบัตร หลังการสอบผ่านมาตรฐาน แต่ต้องต่ออายุทุกๆ 2 ปี

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)