ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 52 : ฝ่ายตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

วิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Clinical laboratory science) ได้วิวัฒนการอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1600s (พ.ศ. 2143) เมื่อแพทย์ได้ทดสอบน้ำปัสสาวะ (Urine) เพื่อค้นหาความหวาน ในการกำหนดว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) หรือไม่

การก้าวกระโดดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2419 เมื่อโรเบิร์ต โคช (Robert Koch) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้ทดลองกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อร้ายแรงในวัวควาย (Anthrax) ซึ่งเขาต้องเพาะเชื้อจุลชีพ (Micro-organism) ด้วยความระมัดระวัง ในห้องปฏิบัติการที่ไม่ทันสมัยนัก (Crude laboratory)

เขาสรุปว่า โรคติดต่อ (Infectious disease) นั้น มิได้เกิดจาก “อำนาจมืด” (Dark power) [อย่างที่เข้าใจกันในสมัยนั้น] แต่เกิดจากจุลชีพที่เล็กมาก ซึ่งมองเห็นเฉพาะจากกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ที่ส่งผ่านจากสัตว์สู่สัตว์ จากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่คน ผลงานวิจัยของเขา เป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการพัฒนา “ทฤษฎีเชื้อโรค” (Germ theory)

ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาค้นคว้าต่างๆ ได้นำพามนุษยชาติ ออกจาก “ยุคมืด” (Dark age) ของไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา และการสาปแช่ง องค์ความรู้ทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ก็ได้เติบโตเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับสูงในวงการแพทย์ในเวลาต่อมา

มาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการสามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 สาขา อันได้แก่ พยาธิวิทยาสรีระ (Anatomical pathology) และพยาธิวิทยาคลินิก (Clinical pathology) ในสาขาแรก อยู่ในความรับผิดชอบของพยาธิแพทย์ (Pathologist) ส่วนในสาขาที่ 2 ก็ยังอยู่ในการอำนวยการของพยาธิแพทย์ แต่แบ่งออกเป็นหน่วยงานย่อยไปตามความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ในสาขาแรก พยาธิแพทย์ตรวจสอบเนื้อเยื่อ (Tissue) และเซลล์ที่หลุดลอกเป็นแผ่น (Exfoliated) จากตัวอย่าง (Specimen) ชิ้นเนื้อที่ตัดจากผู้ป่วย แล้วทำการชัณสูตร (Biopsy) เพื่อค้นหาสาเหตุและลักษณะการตาย ทีมงานผู้ช่วยอำนวยความสะดวกการชัณสูตร และเตรียมเนื้อเยื่อและเซลล์ดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์ โดยพยาธิแพทย์

หน่วยงานย่อยในสาขาที่ 2 ได้แก่ (1) การตรวจวิเคราะห์เซลล์เลือดในโลหิตวิทยา (Hematology) (2) การวิเคราะห์น้ำปัสสาวะ (Urinalysis) (3) การตรวจวิเคราะห์น้ำเลือด (Plasma) และน้ำเหลือง (Serum) ในทางเคมีคลินิก (Clinical chemistry) (4) การตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติที่ทำให้เลือดจับเป็นลิ่ม (Coagulation) (5) การแยกแยะจุลชีพออกมาจากตัวอย่าง ในจุลชีววิทยา (Micro-biology) (6) การตรวจวิเคราะห์การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน (Immunology) และ (7) การตรวจวิเคราะห์ประเภทของเลือด (Blood type) ผู้ป่วย การเลือกหน่วยเลือดที่เหมาะสม และการเตรียมส่วนประกอบของเลือด เพื่อการถ่ายเลือด (Transfusion) จากคลังเลือด (Blood bank)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones and Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)