ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 50 : สูตร ผู้ผลิต และผู้แทนขายยา

หน่วยงานรัฐ ในสหรัฐอเมริกา[และกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีประเทศไทย] สนับสนุนให้มีการใช้ยาสูตรสามัญ (Generic drug) เพราะคุณสมบัติยาเท่าเทียมกัน แต่ราคาถูกกว่ายาสูตรการค้า หรือมียี่ห้อ (Brand name) ยาสูตรสามัญ ผลิตตามมาตรฐานที่เข้มงวด ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในไทย

ดังนั้นยาสูตรสามัญจึงมีคุณภาพ (Quality) ความแรง (Strength) ความบริสุทธิ์ (Purity) และเสถียรภาพ (Stability) เท่ายาสูตรการค้า โดยปรกติ สูตรสามัญของยา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ (Non-proprietary) ซึ่งใช้เรียกทั่วไป บนพื้นฐานของสารเคมีที่ประกอบขึ้นเป็นยา โดยไม่คำนึงถึงว่าใครเป็นผู้ผลิต

ผู้ผลิตยาสร้างยี่ห้อของตนเองแล้วจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า (Trademark) ชื่อยาสูตรการค้ามักขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่ (Capital) ในขณะที่ชื่อยาสูตรสามัญ มักขึ้นด้วยตัวอักษรเล็ก (Lowercase) แต่มิได้หมายความว่า ทุกๆ ชื่อยาสูตรการค้าจะมีชื่อยาสูตรสามัญเสมอไป

เมื่อผู้ผลิตพัฒนายาตัวใหม่ ก็จะไปขึ้นทะเบียนขอสิทธิบัตร ที่ได้รับการคุ้มครอง 11 ปี ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว กฎหมายห้ามมิให้ผู้อื่นผลิตหรือจำหน่ายยาดั้งเดิม (Original) ดังกล่าว จนกว่า สิทธิบัตรนั้นหมดอายุลง ผู้ผลิตยารายอื่นๆ จึงจะสามารถเริ่มทดลอง ผลิต และจำหน่าย (หลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก FDA ก่อน) ยาสูตรสามัญ เท่านั้น

โดยทั่วไป การผลิตยาแต่ละตัวในสหรัฐอเมริกานั้น มีต้นทุนค่อนข้างสูง เแต่ยาสูตรสามัญ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทดลองซ้ำทางการแพทย์ (Repeat clinical trial) เนื่องจากผู้ผลิตสูตรสามัญ ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ต้นทุนยาสูตรสามัญ จึงมักมีราคาถูกกว่ายาสูตรการค้า แต่ผู้ผลิตยาสูตรสามัญต้องแสดงให้เห็นว่า ยาของเขาปลอดภัยและมีประสิทธิผลเท่ากับยาสูตรการค้า

บริษัทผู้ผลิตยาสูตรการค้า มักว่าจ้างเภสัชกรในการขายยาเข้าสู่โรงพยาบาล ผู้แทนขายเหล่านี้ให้บริการที่มีคุณค่าแก่แพทย์ผู้สั่งจ่ายยา อาทิ การให้ข้อมูลรายละเอียดของยาแต่ละตัว [ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Detailer] นอกจากนี้ยังช่วยเภสัชกรในการจัดซื้อยาที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกยา [ที่ได้มาตรฐาน]

ผู้แทนขายยามีหน้าที่ตอกย้ำ (Reinforce หรือ Remind ในบริบทของประเทศไทย) การใช้ยาที่มีใช้ในปัจจุบันในโรงพยาบาล และนำเสนอการวิจัยตลาด (Market research) และเสียงสะท้อน (Feedback) การใช้ยา เป็นการช่วยประหยัดเวลาให้กับเภสัชกรผู้จัดซื้อ

ในสหรัฐอเมริกา โรงพยาบาลส่วนมากซื้อยาร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ (Group purchasing) ผ่านกระบวนการบริหาร “สายโซ่อุปทาน” (Supply-chain management) ซึ่งช่วยประหยัดมากจากส่วนลดปริมาณ (Volume discount)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)