ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 48 : ข้อผิดพลาดในการจ่ายยา

นิยามของ “ข้อผิดพลาดในการจ่ายยา” (Medication error) ก็คือ “เหตุการณ์ซึ่งป้องกันได้ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การจ่ายยาที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ในขณะที่ยายังอยู่ในการควบคุมของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ ผู้ป่วย หรือผู้บริโภค เหตุการณ์ดังกล่าว อาจสัมพันธ์กับการปฏิงานของนักวิชาชีพ ผลิตภัณฑ์ [ยา] ระเบียบวิธีปฏิบัติ และระบบ รวมถึงคำสั่งยาของแพทย์ การสื่อสารเรื่องใบสั่งแพทย์ ฉลากยา บรรจุภัณฑ์ยา และระบบชื่อ (Nomenclature) ยา การผสมยา การจ่ายยา การจัดขนจัดส่งยา (Logistics) การให้กินยา การให้การศึกษาเรื่องยา การติดตามผลยา และการใช้ยา”

ผู้ป่วยโรงพยาบาลจำนวนมาก มิได้บอกแพทย์เรื่องยาอื่นที่กินอยู่ และการแพ้ยาหรือปฏิกิริยาของยา (Drug reaction) ที่มีต่อยาบางตัว ทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับแพทย์ในการสั่งยาที่ถูกต้อง และ/หรือ ขนาด (Dosage) ของการกินยา รวมทั้งการเฝ้าระวังข้อห้ามใช้ (Contraindication) ในบางกรณี

นอกจากนี้แพทย์อาจมีลายมือที่อ่านยาก ทำให้เภสัชกรจัดยาเกิดความสับสนในเรื่องยาที่มีชื่อคล้ายกัน ติดฉลากยาผิด หรือผู้ป่วยอาจมีชื่อเดียวกัน หรือคล้ายกัน และสภาพแวดล้อม ในห้องจ่ายยาที่มีเสียงรบกวน จนอาจทำให้ไขว้เขว [ขาดสมาธิ] แล้วนำไปสู่ข้อผิดพลาดในการจ่ายยา

ในปี พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) สหรัฐอเมริกได้ออกกฎบังคับใช้รหัสแท่ง (Bar code) บนฉลากยา และผลิตภัณฑ์ชีววิทยา (Biological products) ในความพยายามที่จะลดข้อผิดพลาดในการจ่ายยา และต้นทุนการดูแลสุขภาพ

ระบบนี้มีประสิทธิผลสูงในการช่วยแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการจ่ายยาที่ถูกต้องและขนาดที่ถูกต้อง ให้ผู้ป่วย FDA ทำหน้าที่ประจำในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาใหม่ แก่สถานพยาบาล แจ้งเรื่องความปลอดภัย และยาที่เรียกคืน (Recall) เพื่อปกป้องผู้ป่วยในขณะใช้ยาอยู่

โครงการปรับปรุงคุณภาพ (Quality Improvement Program : QIP) สำหรับฝ่ายเภสัชกรรม มักกำหนดให้มีนโยบายและระเบียบวิธี (Procedure) สำหรับการเตรียมยาและจ่ายยา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ให้ยาทางอื่นที่มิใช่ทางปาก (Parenteral) เภสัชกรรับผิดชอบในการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้ยาและสูตรยาทางอื่นดังกล่าวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ เภสัชกรยังต้องค้นหาการใช้ยาผิด (Misuse) และนำเสนอมาตรการแก้ไขให้ถูกต้อง อาทิ การแยกแยะขนาดการใช้ยาตามแต่ละประเภท และการใช้ตามการวินิจฉัย ในอดีตมีการค้นหาว่า มีการใช้สเตียรอยด์ (Steroid) กับผู้ป่วยที่มีแผลเปื่อยจากการย่อยอาหาร (Peptic ulcer) ซึ่งเป็นข้อห้ามใช้ หรือไม่ ปัจจุบันมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่สามารถเตือนการใช้ยาผิด และใช้ในกรณีที่ขัดแย้งกับข้อห้ามใช้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)