ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 46 : ระบบการจ่ายยาในโรงพยาบาล

การจ่ายยาให้ผู้ป่วยนอก เป็นกลไกที่ไม่ซับซ้อน เพียงผู้ป่วยรอเรียกชื่อจากแผนกการเงิน เพื่อชำระค่ายา แล้วนำใบเสร็จไปรอเรียกชื่อจากห้องจ่ายยา เพื่อรับยากลับบ้าน ปัญหาที่ประสบกันมาก ก็คือการรอรับยานาน ในโรงพยาบาลเอกชนมักตั้งเกณฑ์ไม่ให้เกิน 15 นาที ส่วนโรงพยาบาลรัฐ ต้องรออย่างต่ำ 45 นาที และบางครั้งเป็นชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินและยา

ส่วนการจ่ายาให้ผู้ป่วยใน เป็นกลไกที่ซับซ้อน จนต้องสร้างระบบขึ้นมารองรับ เมื่อห้องจ่ายยา ได้รับยาจากคลังยา ก็จะส่งไปหน่วยงานการพยาบาล (Nursing unit) เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วยใน โดยทั่วไป ยาที่ผู้ป่วยในได้รับ แบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. รายการที่สงไปให้หน่วยงานการพยาบาล เพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลัง ที่ไม่คิดเงินกับผู้ป่วยใน อาทิ ส่วนผสมยา (Rubbing compound) ยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) และผ้าพันแผล (Bandage)
  2. รายการที่ต้องคิดเงินกับผู้ป่วยใน (Patient charge-able) อาทิ ยาสวนทวารหนัก (Enema) และชุดเตรียมการภายนอกใช้ครั้งเดียว (Disposable external preparation)
  3. ยาที่จ่ายและคิดเงินตามใบสั่งแพทย์ (Dispensed and charged upon prescription) ซึ่งเป็นรายการส่วนใหญ่ของยา และเป็นส่วนใหญ่ของต้นทุนยาด้วย

วิธีการที่ใช้ในการจ่ายยาของโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นการจ่ายตามขนาด (Dose) ของการกินยาแต่ละวัน (Daily dose) ส่วนสหรัฐอเมริกา ได้เปลี่ยนไปเป็นการจ่ายตามขนาดของการกินยาแต่ละครั้ง (Unit dose) โดยฝ่ายเภสัชกรรมจะหีบห่อ (Package) ยาตามขนาดเฉพาะ ซึ่งช่วยในการควบคุมที่ดีขึ้น และลดความสูญเสีย แต่ก็มีต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น

การจ่ายยาแบบ Unit dose นั้น จะจ่ายไปตามหน่วยงานการพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ยาจะเก็บอยู่ตามผู้ป่วยแต่ละรายในลิ้นชัก ซึ่งรวมกันอยู่ในตลับ (Cassette) และบรรจุอยู่ในรถเข็น (Cart) ของหน่วยงานการพยาบาล [ที่จะเข็นไปจ่ายยาให้ผู้ป่วยแต่ละรายตามเวลาที่กำหนด แล้วนำรถเข็นเปล่ากลับมาแลกเปลี่ยน (Exchange) กับรถเข็นที่บรรจุยาแล้วซึ่งเตรียมไว้สำหรับรอบต่อไป]

ระบบ Unit dose อำนวยความสะดวกทั่วโรงพยาบาล ให้เภสัชกร พยาบาล และผู้ป่วยใน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเภสัชกรและพยาบาล รวมทั้งการลดข้อผิดพลาด (Error) ในการเตรียมยา และจ่ายยา อีกด้วย การจ่ายยาผิดพลาด (Medication error) เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เภสัชกรใช้มาตรการถูกต้อง 5 Rs (R = Right) อันได้แก่ (1) ผู้ป่วยถูกต้อง (2) ยาถูกต้อง (3) เวลากินยาถูกต้อง (4) ขนาด (Dose) ถูกต้อง และ (5) เส้นทางให้ยา (Route of administration) ถูกต้อง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)