ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 45 : บทบาทเภสัชกรในโรงพยาบาล

ในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา เภสัชกรต้องได้รับปริญญา PharmD จากคณะเภสัชศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย จึงจะประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ ก่อนเข้าเรียนหลักสูตรนี้ ผู้สมัครต้องมีพื้นฐานอย่างน้อย 2 ปีในวิชาคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ระหว่างศึกษาหลักสูตรนี้อีก 4 ปี นักศึกษาสามารถฝึกงานกับเภสัชกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (Licensed)

จากนั้น นักศึกษาต้องเข้าสู่โปรแกรมเภสัชกรประจำบ้าน (Residency) ประมาณ 1 – 2 ปีซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับผู้ที่จะทำงานเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาล นักศึกษาต้องสอบผ่านทุกวิชา ตามที่รัฐกำหนด ก่อนที่จะได้รับสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียน เป็นเภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist)

ส่วนในประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังปรับปรุงหลักสูตรจาก 5 ปี ในปัจจุบันเป็น 6 ปีในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรในสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตเภสัชกรคลินิก ที่สามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ในเรื่องการการประเมินอาการผู้ป่วย แล้วปรับการจ่ายยาตามอาการ

คณะกรรมการยาและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutics Committee : PTC) ในโรงพยาบาล ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฝ่ายเภสัชกรรมกับฝ่ายการแพทย์ โดยรับผิดชอบผลทางการแพทย์ของกิจกรรมฝ่ายเภสัชกรรมในโรงพยาบาล คณะกรรมการนี้มักประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และผู้บริหาร

แม้ว่าคณะกรรมการ PTC จะกำหนดมาตรฐานของยาที่จ่ายในโรงพยาบาล ในทางปฏิบัติ เภสัชกรเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกยี่ห้อ [ชื่อยาสูตรการค้า] หรือบริษัทผู้จำหน่ายยา เพื่อสนองความต้องการตามใบสั่งแพทย์ เว้นแต่จะได้รับคำสั่งเป็นอย่างอื่น จากแพทย์ผู้ออกใบสั่งยา (Prescriber)

คณะกรรมการ PTC มีหน้าที่พัฒนาตำรับยา (Formulary) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ตำรับนี้เป็นรายชื่อยาที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายการแพทย์ และมีพร้อมใช้ในโรงพยาบาล ประกอบด้วยขนาด (Dosage) ข้อห้ามใช้ (Contraindication) คำเตือน (Warning) และ [คุณสมบัติ] ตามเภสัชวิทยา (Pharmacology)

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PTC ยังมีหน้าที่ให้ความรู้ฝ่ายการแพทย์ ในเรื่องยาใหม่ๆ ปฏิกิริยาของยา (Drug reaction) และผลการศึกษาจากยานั้นๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมในโครงการปรับปรุงคุณภาพ (Quality improvement program : QIP) และนำเสนอการบำบัดด้วยยาอย่างมีประสิทธิผลในเรื่องต้นทุน (Cost-effectiveness)

บทบาทของเภสัชกร เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของโรงพยาบาล ไม่ด้อยไปกว่าบทบาทของพยาบาล โดยที่การเยียวยารักษาผู้ป่วย ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของเภสัชกรในการให้คำแนะนำที่ถูกต้องในเรื่องการเลือกยา จ่ายยา และกำหนดระดับขนาดยา (Level of dosage)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)