ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 43 : การดูแลผู้ป่วยสูงอายุ

จำนวนผู้ป่วยสูงอายุ ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยและทั่วโลก ผู้ป่วยสูงอายุ จำเป็นต้องได้รับการบริการเพิ่มเติมมากกว่าผู้ป่วยอื่นๆ ในกระบวนการเยียวยารักษา เพื่อช่วยลดจำนวนวันที่ต้องนอนในโรงพยาบาล (Length of stay : LOS)

บริการดังกล่าวได้แก่ การบริหารตามกรณี (Case management) การเคลื่อนย้าย และการบำบัดทางกายภาพหรือทางอาชีวะ (Occupational therapy) ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ พยาบาลและผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการด้านโรคและการรักษาผู้สูงอายุ (Geriatrics) โดยเฉพาะ

ผู้ให้บริการ จะต้องเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยสูงอายุแต่ละราย และความต้องการเฉพาะในบางกรณี อาทิ ผู้ป่วยอายุ 45 ปี ที่ปัญหาสุขภาพ อาจมีอายุร่างกาย (Functional age) เท่ากับผู้มีอายุ 80 ปี ในขณะที่ผู้ป่วยอายุ 80 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีอายุร่างกายเท่ากับผู้มีอายุ 45 ปี

ในหลายๆ กรณี ผู้ป่วยสูงอายุที่อ่อนแอ อาจแสดงอาการเพิ่มเติม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะดั้งเดิมตอนที่เข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการแทรกซ้อนดังกล่าวได้แก่ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) อาการเพ้อ (Delirium) การมองเห็นที่พร่ามัว การสูญเสียการได้ยิน โรคจิตจากการถูกกระทำที่ไม่สมควร (Abuse) และความไม่คุ้นเคยกับสถานที่

ในกรณีที่มีญาติผู้ป่วยสูงอายุมาด้วย จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ป่วยกับผู้ให้บริการได้ดี แต่ในกรณีที่ไม่มีญาติผู้ป่วย ความรับผิดชอบดังกล่าว มักตกเป็นของผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งอาจขาดประสบการณ์โดยตรง หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมในการให้บริการผู้ป่วยสูงอายุ จึงมักไม่ใส่ใจในเรื่องคุณภาพการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว

โรงพยาบาลอาจเสนอบริการเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยสูงอายุ อันได้แก่ การดูแลความทรงจำ (Memory care) เพราะ ความจำเสื่อมลง การบำบัดโรคข้ออักเสบ (Arthritis treatment) เพราะข้ออักเสบอย่างรุนแรง การบริหารความปวด (Pain management) เพราะความเจ็บปวดเรื้อรัง จิตเวชผู้สูงอายุ (Geriatric psychiatry) เพราะเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) จักษุเวช (Ophthalmic care) เพราะเป็นโรคต้อกระจก การประทังอาการ (Palliative care) เพรามีโรคเรื้อรังระยะยาวจนจบชีวิต (End-of-life care) และสถานพยาบาลระยะสุดท้าย [ของชีวิต] (Hospice) เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย เป็นต้น

ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผู้ป่วยสูงอายุ หน่วยงานข้างต้นทำหน้าที่ประเมินอาการ ให้การบำบัดรักษาเฉพาะทาง (Specialized care) และสนับสนุนในเรื่องการศึกษา ฝึกอบรม วิจัย รวมทั้งความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ (Interdisciplinary) เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพของการให้บริการผู้ป่วยสูงอายุ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)