ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 42 : อุปกรณ์ข้างเตียงเพื่อติดตามผล

การเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ได้สร้างนวัตกรรมมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในแต่ละระดับของความรุนแรง (Acuity level) อาทิ กล้องโทรทัศน์ติดตามผล (Tele-monitoring) จอภาพข้างเตียง (Bedside terminal) และเวชระเบียนอัตโนมัติ ซึ่งใช้โดยพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของหน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) ความจำเป็นของผู้ป่วย และทรัพยากรของโรงพยาบาล

อุปกรณ์เหล่านี้อาจใช้เพี่อการประเมินผู้ป่วยเป็นประจำ ในเรื่องความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ และอุณหภูมิ ตลอดจนอาการทางกายภาพ (Physical) และทางสรีระ (Physiological) ในหน่วยงานดูแลวิกฤต (Intensive care unit : ICU) จะมีการติดตั้งระบบเตือน ให้พยาบาลทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในอาการวิกฤตของผู้ป่วย เพื่อสามารถประเมินความเสี่ยงต่อผู้ป่วย ที่ได้รับการเฝ้าติดตามผลตลอดเวลา

ติดตามผลทางด้านหัวใจ (Cardiac) อาจรวมถึงเครื่องอ่านการเต้นเป็นจังหวะ (Rhythm) ของหัวใจที่ปรากฎบนจอภาพข้างเตียงผู้ป่วย เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมส่งเสียงและภาพเตือน เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) ด้วยมือหรือระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ (Electrocardiograph)

จอภาพคอมพิวเตอร์ข้างเตียงต้องอาศัยทีมพยาบาลในการเข้าถึงและเรียกใช้ข้อมูลของผู้ป่วย อาทิสัญญาณชีพ (Vital sign) ผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ และการให้ยาผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและแม่นยำในการเก็บ(Capture) ข้อมูล ณ แหล่งเกิด หรือ จุดให้บริการดูแลผู้ป่วย (Point of care : POC)

คอมพิวเตอร์ข้างเตียงจะเชื่อมโยงไปยังระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system : HIS) ที่บูรณาการทุกหน่วยงานด้านหน้า (Front end) เข้าด้วยกัน ระบบนี้จะอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างพยาบาลกับนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่น ๆ ทำให้การตอบสนองความต้องการผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น

คอมพิวเตอร์ข้างเตียงยังสร้างและปรับปรุงให้ทันกาล (Update) เวชระเบียนผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ สามารถทดแทนบันทึกผู้ป่วย (Patient chart) ในระบบดั้งเดิม [และลดความผิดพลาด] นอกจากนี้ข้อมูลการรักษาผู้ป่วยยังเป็นส่วนหนึ่งของ บูรณาการทั้งระบบ โดยแพทย์ พยาบาล และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้

ในศตวรรษที่ 21 บริการพยาบาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ และการสื่อสารระหว่างวิชาชีพต่างๆ (Multidiscipline) การตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย นานากิจกรรมที่ปรับปรุงผลงาน มาตรฐานการดูแลผู้ป่วย และปฏิบัติการบนพื้นฐานของประจักษ์หลักฐาน (Evidence-based)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)