ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 41 : การจัดตารางเวรการพยาบาล

ขั้นตอนต่อไปหลังจากกำหนดอัตรากำลัง ก็คือการจัดตารางเวรการพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่จำเป็น ณ เวลาที่ต้องการ ตารางเวรจะระบุวัน เวลา และกะของการทำงานของพนักงานทุกคน ในการจัดตารางเวร จะต้องพิจารณาจำนวนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ละงานที่ได้รับมอบหมาย และการร้องขอหยุดทำงาน (Time off) รวมทั้งพักร้อนของแต่ละคน

การจัดตารางเวรมักจะทำกันเป็นช่วงเวลา 4 หรือ 6 สัปดาห์ โดยจะปรับปรุงให้สนองความต้องการของแต่ละหน่วยงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามปรกติมี 4 วิธีในการจัดแจง ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละสถานการณ์

วีธีแรกซึ่งดำเนินกันมาแต่ดั้งเดิม (Traditional) คือการกำหนดช่วงเวลาว่าเป็นสัปดาห์หรือเดือน หากโครงสร้างของโรงพยาบาลเป็นแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) หัวหน้าพยาบาลมีอำนาจตัดสินใจเรื่องตารางเวร โดยดูจากบัญชีรายชื่อ (Roster) ของผู้ที่พร้อมจะทำงาน ณ วันและเวลาเฉพาะ รวมทั้งช่วงระยะเวลา

ข้อดีของวิธีนี้คือความยืดหยุ่น (Flexibility) เพราะสามารถปรับตารางเวรได้อย่างรวดเร็วไปตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) แต่ก็มีข้อเสีย คือการเข้าเวรของบางคนอาจไม่สม่ำเสมอ [อาทิ คนแย่งกันขอหยุดช่วงสุดสัปดาห์ยาว หรือเทศกาล] ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วย

วิธีที่ 2 คือการจัดตารางเวรไปตามฤดุกาล (Cyclical) มักจะกำหนดช่วงเวลาเป็นไตรมาส ข้อดีของวิธีนี้ คือความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วย ในแต่ละ PCU แต่ในบางครั้งการร้องขอพิเศษ [เป็นข้อยกเว้นจากตารางเวรที่จัดลงตัวแล้ว] อาจมีผลกระทบต่อความสม่ำเสมอดังกล่าว ดังนั้น ข้อเสียของวิธีนี้ คือขาดความยืดหยุ่น

วิธีที่ 3 คือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยจัดตารางเวร ซึ่งสามารถให้ความยืดหยุ่น และลดต้นทุนปฏิบัติการ เหมาะสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มี PCU ที่ซับซ้อน และจำนวนมาก ระบบคอมพิวเตอร์ยังสามารถรวมนโยบายและระเบียบวิธี (Procedure) เข้าไปในการคำนวณของโปรแกรม ทำให้ทุก PCU มีมาตรฐานเดียวกันหมด และเกิดเสถียรภาพ

วิธีที่ 4 คือ การให้แต่ละคนในแต่ละ PCU จัดตารางเวรกันเองตามนโยบายและระเบียบวิธีของโรงพยาบาล แล้วรวบรวมกันขึ้นเป็นระบบผ่านตาราง (Grid) หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อาจต้องมีการเจรจากันเองในกรณีที่ร้องขอวันหยุดเดียวกัน การให้พนักงานมีส่วนร่วม มักสร้างความพอใจในงาน ลดอัตราการลาออก และเพิ่มขวัญและกำลังใจการทำงาน

โรงพยาบาลหลายแห่งใช้วิธีการหมุนเวียน (Rotate) ในแต่ละกะ เพื่อให้พนักงานแต่ละคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในกะเช้า กะบ่าย-เย็น และกะกลางคืน แม้จะเป็นระบบที่ยุติธรรม แต่พนักงานบางคนอาจมีปัญหาในการปรับตัว ระหว่างช่วงเวลานอนกับช่วงเวลาทำงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามตารางเวร จึงต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพในการพยาบาลผู้ป่วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)