ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 44 : ฝ่ายเภสัชกรรม

ฝ่ายเภสัชกรรม (Pharmacy) ในโรงพยาบาล รับผิดชอบการจ่ายยา [สำเร็จรูป] และผสมยา (Compounding) เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย รวมทั้งสารเคมี (Chemical substance) เพื่อการวินิจฉัยและบำบัดรักษาผู้ป่วย ฝ่ายเภสัชกรรมอาจจำหน่ายยาให้บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้ป่วยของโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับนโยบาลของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลส่วนใหญ่ กำหนดให้มีห้องจ่ายยา (Dispensary) หลักหนึ่งแห่งเป็นแกนกลาง แล้วมีห้องจ่ายย่อยเป็นบริวาร (Satellite) หลายแห่ง ซึ่งกระจายไปตามหน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) อาทิ แผนกฉุกเฉิน (Emergency room : ER) และหอผู้ป่วยใน (Ward) เป็นไปตามนโยบายกระจายอำนาจ (Decentralized)

นอกจากการจ่ายยาแล้ว ฝ่ายเภสัชกรรม ยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา (Medication counseling) แก่ผู้ป่วย รวมทั้งการผลิตยาและการเตรียมยา ในส่วนสนับสนุน ยังรวมถึงการสั่งซื้อยา การบริหารระดับสินค้าในคลัง การเก็บกักรักษายา และการส่งยาไปตามจุดต่างๆ ทั่วโรงพยาบาล เรียกว่า “การบริหารสายโซ่อุปทาน” (Supply chain management)

โรงพยาบาลส่วนมาก ว่าจ้างเภสัชกร (Pharmacist) ทำงานเต็มเวลา (Full time) ในกะงานช่วงเช้า และเภสัชกรบางเวลา (Part time) ในกะเย็นถึงค่ำ เภสัชกรทำหน้าที่กำกับดูแลและประสานงานผู้ช่วยเภสัชกร (Pharmacist assistant) และบุคคลากรอื่นๆ ในฝ่ายซึ่งทำหน้าที่หีบห่อ (Packaging) ควบคุมระดับสินค้า และจัดขนจัดส่งยาไปให้ผู้ใช้

การขาดแคลนเภสัชกร เป็นปัญหาที่ไม่แตกต่างจากการขาดแคลนพยาบาล ดังนั้นผู้ช่วยเภสัชกร และบุคลากรอื่นๆ ในฝ่ายเภสัชกรรม จะได้รับการฝึกอบรมทั้งในห้องเรียนและระหว่างทำงาน (On the job) เพื่อรับผิดชอบในงานหลายๆ อย่าง ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญของวิชาชีพ โดยเฉพาะงานสนับสนุนที่อยู่หลังฉาก (Back end)

เภสัชกรรับผิดชอบในการให้บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และนโยบายและระเบียบวิธี (Procedure) ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการตีความหมาย (Interpret) คำสั่งแพทย์ และจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ตลอดจนให้ข้อมูลและคำแนะนำแพทย์ในเรื่องข้อห้ามใช้ (Contraindication) และผลข้างเคียง (Side effects)

นอกจากนี้ เภสัชกรยังมีหน้าที่เตรียมยาและน้ำเกลือ สำหรับการฉีด (Injection) หรือจ่ายเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous : IV) เตรียมสารละลายอาหาร (Nutrition solutions) เตรียมสารเคมีบำบัด (Chemotherapeutic agent) และอาจจ่ายยากัมมันตรังสี (Radioactive medication) ขึ้นกับนโยบายของโรงพยาบาล

ในสหรัฐอเมริกา เภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist) จะมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาในเรื่องการฟื้นฟูหัวใจ (Cardiac rehabilitation) หรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมทั้งการประเมินอาการผู้ป่วย แล้วปรับการจ่ายยาตามอาการ อีกด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)