ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 37 : หน่วยงานดูแลผู้ป่วย

หน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) เป็นการรวมหน้าที่งานภายใต้การดูแลของผู้จัดการหน่วยงาน (อาทิ อายุรกรรม ศัลยกรรม สูติ-นรีเวช หอผู้ป่วยหนัก (Intensive care unit : ICU) แผนกฉุกเฉิน ฯลฯ) ซึ่งมักจะเป็นพยาบาลวิชาชีพ และรับผิดชอบเรื่องคุณภาพของการพยาบาลผู้ป่วย ควบคุมการใช้วัสดุสิ้นเปลือง กำหนดตารางเวร เป็นต้น

PCU อาจใหญ่หรือเล็กไปตามขนาดของโรงพยาบาล PCU ขนาดเล็กอาจประกอบด้วย 8 ถึง 10 เตียง ที่ดูแลด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialized care) หรือ PCU ขนาดใหญ่ประกอบด้วย 60 ถึง 70 เตียง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขนาดของPCUจะประกอบด้วย 20 ถึง 40 เตียง มักแบ่งการทำงานแต่ละวันเป็น 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง

ตามปรกติ กะแรกเริ่มจาก 7.00 น. ถึง 15.00 น. กะสองเริ่มจาก 15.00 น. ถึง 23.00 น. และกะสามเริ่มจาก 23.00 น. ถึง 7.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่โรงพยาบาลบางแห่งอาจให้ PCU ทำงานเป็น 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง โดยที่กะแรกเริ่มจาก 7.00 น. ถึง 19.00 น. และกะสองเริ่มจาก 19.00 น. ถึง 7.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

รูปแบบหลังนี้ มีข้อดีตรงที่เอื้อประโยชน์ในการประสานงานการดูแลผู้ป่วย ด้วยการเปลี่ยนแปลงบุคลากรน้อยครั้งกว่า ซึ่งเป็นความต้องการมากกว่าของ PCU วิกฤต (Critical care) หรือแผนกฉุกเฉิน นอกจากนี้ PCU ยังได้รับการปรับปรุงให้ดูทันสมัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก (Amenities) โทรทัศน์จอแบน และการเลือกเวลารับประทานอาหารได้

PCU มักได้รับการออกแบบที่สอดคล้องกับอาการเจ็บป่วย อาทิ ห้องพักผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ อาจเป็นห้องที่มีความกดดันเป็นลบ (Negative pressure) เพื่อขจัดการไหลออกของอากาศ และสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยวัณโรค หรือมีโอกาสเป็นวัณโรค ที่ต้องแยกต่างหาก (Isolation) จากผู้อื่น

ขนาดของ PCU และการกระจายของห้องพักผู้ป่วย มักได้รับการออกแบบก่อนการก่อสร้างแต่ละ PCU โดยพิจารณาถึงต้นทุนการก่อสร้าง การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวลาของการพยาบาล หาก PCU มีบริเวณโอ่โถง และห้องพักผู้ป่วยกระจายห่างไกลจากสถานีกลางที่พยาบาลให้บริการ อาจต้องเดินทางไกลกว่าจะถึงผู้ป่วย หรือคลังวัสดุสิ้นเปลือง

ไม่ว่ารูปแบบบริเวณ (Configuration) จะเป็นสีเหลี่ยมหรือวงกลม สิ่งสำคัญคือการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไม่เสถียร (Unstable) หรือมีความเสี่ยงสูง มิให้ตกจากเตียง โดยต้องเห็นได้จากสถานีพยาบาล ห้องพักผู้ป่วยรวม จะมีผ้าม่านกั้นแยกเพื่อความเป็นส่วนตัว (Privacy) เมื่อจำเป็น [อาทิ เมื่อแพทย์ต้องตรวจผู้ป่วย]

ในกรณี PCU สำหรับเวชศาสตร์ฟื้นฟู อาจต้องมีบริเวณกว้างเป็นพิเศษเพื่อรองรับรถเข็น และไม้เท้า ส่วนห้องน้ำต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยพิการ ตามกฎหมาย [หรือนโยบายของโรงพยาบาล]

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)