ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 153 : การดูแลที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (3)

แนวความคิดของการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-centered care) มีผลกระทบทางจริยธรรรม (Ethical implications) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐาน 4 ประการ อันได้แก่ การให้ผู้ป่วยป็นผู้ตัดสินใจเอง (Autonomy) การดูแลให้หายป่วย (Beneficence) การป้องกันมิให้เกิดอันตราย (Non-maleficence) และความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ (Justice)

การให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเอง สอดคล้องกับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างมีศักดิ์ศรี (Dignity) เห็นอกเห็นใจ (Compassion) และเข้าใจความรู้สึก (Sensitivity) รูปแบบเพลเน็ตทรี (Planetree model) สนับสนุนการให้เกียรติผู้ป่วยและความสามารถของผู้ป่วยในการตัดสินใจ เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วน (Informed decision) รูปแบบนี้ ยังขยายการครอบคลุมถึงบุคลากรของโรงพยาบาล โดยเคารพในความเชี่ยวชาญของเขา

หลักการดูแลให้หายป่วย จะเห็นได้ชัดจากการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะสะท้อนถึงความคาดหวังการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์ที่ดีในการเยียวยารักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยกลายเป็น “หัวใจ” ของกิจกรรมแต่ละวันของโรงพยาบาล แม้ว่าบางครั้งผลลัพธ์ (Outcome) ของผู้ป่วยคือความตาย ผู้ที่เกี่ยวข้อง (รวมทั้งญาติมิตรของผู้ป่วย) จะได้รับการปฏิบัติด้วยเมตตาธรรม ซึ่งจะสร้างความทรงจำที่ดี และการได้รับความไว้วางใจจากชุมชน

การป้องกันมิให้เกิดอันตราย ก็สอดคล้องกับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเช่นกัน เพราะความพยายามของโรงพยาบาลในการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย หรือลดผลกระทบหากจำเป็นต้องมีความเสี่ยง ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ โดยการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยในเรื่องหัตถการ (Procedure) ที่จะได้รับ คอยให้กำลังใจ และยอมให้ญาติมิตรเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลมีหน้าที่ลดอันตรายให้น้อยลงจากการทำงานหนัก (Burn-out) ของบุคลากร อีกด้วย

ความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ อาจเป็นที่ถกเถียงกันเมื่อประยุกต์ใช้กับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโรงพยาบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลลัพธ์ทางการแพทย์ กับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจลงเอยด้วยคำตอบว่าไม่คุ้มค่า แต่ในทางปฏิบัติ โรงพยาบาลต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผู้ป่วยสมควรได้รับในแง่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนการพิจารณาความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาลของผู้ป่วย หรือญาติมิตร

แนวโน้มของการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งพึงปรารถนาของผู้บริโภคดูแลสุขภาพ (Healthcare consumer) เพราะแสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลมีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงสถานที่ทำงานของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) หรือศูนย์กำไร (Profit center) การเยียวยารักษาผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันในเรื่องการประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของผู้บริหารโรงพยาบาลที่ปรารถนาจะดำเนินการไปสู่การดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ท่ามกลางประเด็นทางจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึง

ผมเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. Planetree - http://planetree.org/ [2013, November xxx]
3. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)