ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 152 : การดูแลที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (2)

รูปแบบ “พลาเน็ตทรี” (Planetree model) คำนึงถึงความสำคัญของอาหาร ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษา ผู้ป่วยรับรู้คุณค่าของโภชนาการ (Nutrition) ผ่านโปรแกรมการศึกษา บริการที่จัดให้เป็นรายบุคคล (Personalized services) อาทิ รายการอาหารตามสั่ง (Room-service menu) และการใส่ใจในการเตรียมอาหาร

แนวความคิดดังกล่าวขยายวงไปถึงโรงครัว (Kitchen) และโรงอาหาร (Canteen) ในโรงพยาบาล ที่ให้บริการรวมไปถึงญาติมิตรของผู้ป่วย และบุคลากรผู้ให้บริการ นอกจากนี้ ยังรวมทั้งการออกแบบในภาพรวม (Overall design) ของอาคารโรงพยาบาล เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลมีส่วนร่วมในการเยียวยารักษาผู้ป่วย และฟูมฟักบรรยากาศผู้ให้บริการมีความสุขในการปฏิบัติงาน

บรรยากาศดังกล่าว สะท้อนออกมาในรูปแบบที่สัมผัสกับธรรมชาติ (Contact with nature) และผูกพันกับความรู้สึก (Sensory engagement) เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์แก่ผู้ป่วย ญาติมิตร และบุคลากรผู้ให้บริการ โดยเฉพาะการช่วยผู้ป่วยต่อสู้กับความเจ็บปวด ความกลัว และความโดดเดี่ยวระหว่างการเยียวยารักษา

รูปแบบของ “พลาเน็ตทรี” ยังเข้าใจพลังของการสัมผัส (Power of touch) ในกระบวนการเยียวยารักษา การดูแลที่สื่อสารด้วยการนวดบำบัด (Therapeutic massage) ให้ผู้ป่วยและผู้ให้บริการ เพื่อเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) บางอย่าง อาทิ การฝังเข็ม (Acupuncture)

นอกจากนี้ รูปแบบของ “พลาเน็ตทรี” ยังให้ความสำคัญต่อแหล่งภายใน (Inner source) ของการเยียวยารักษา การรับรู้บทบาททางจิตวิญญาณ (Spirituality) อาทิ การให้คำปรึกษา (Counseling) การฝึกสมาธิ (Meditation) การสวดมนต์ (Prayer) หรือพิธีกรรมทางศาสนา (Ritual) ตลอดจนถึงศิลปะของการเห็น (อาทิ สีสันในห้องผู้ป่วย) และการได้ยิน (อาทิดนตรีในห้องโถงโรงพยาบาล)

แม้ว่า ไม่ใช่โรงพยาบาลทุกแห่งจะยอมรับแนวความคิดนี้ แต่โรงพยาบาลหลายแห่ง ก็ลงมือปฏิบัติไปแล้วในบางเรื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งในในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลตอบรับดีมากจากทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ที่สะท้อนออกมาในรูปของระดับความพึงพอใจทั้งสองกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ โดยเฉพาะการให้ผู้ป่วยมีอำนาจมากในการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาในโรงพยาบาล แพทย์ดังกล่าวไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งระบบนี้ และเกิดความกลัวต่อการสูญเสียการควบคุมและการเคารพนับถือ

ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล ก็กังวลเกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการนำรูปแบบ “พลาเน็ตทรี” ไปลงมือปฏิบัติ ว่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on investment) ไม่คุ้มค่าหรือไม่?

ผมเชิญชวนคุณผู้อ่านให้

  1. เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น
  2. ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง
  3. แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ
  4. แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. Planetree - http://planetree.org/ [2013, November 2014]
3. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)