ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 151 : การดูแลที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (1)

ในอดีต การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ดำเนินไปตามการตัดสินใจของแพทย์ พยาบาล และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยมองว่า นักวิชาชีพดูแลสุขภาพเหล่านี้มีสติปัญญาที่เหนือกว่า จึงได้รับการยอมรับให้ตัดสินใจแทนผู้ป่วย

ในขณะที่นักวิชาชีพเหล่านี้ ก็คาดหวังให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม (Compliant) และรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ให้การรักษาพยาบาล แต่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยเริ่มคาดหวังให้นักวิชาชีพสุขภาพ ต้องรับผิดชอบต่อการรักษาพยาบาลด้วยจริยธรรม การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้วิถีการตอบสนองความต้องการการดูแลสุขภาพเปลี่ยนไป

ลักษณะสมัยใหม่ของโรงพยาบาล ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และความรีบร้อนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทำให้การรักษาพยาบาล “ดุจญาติมิตร” (Paternalistic delivery) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เสมอไป ผู้ป่วยมักรู้สึกว่า ผู้ให้บริการไม่ใส่ใจ ไม่ให้คุณค่า และไม่ให้เกียรติ (Demean)

เนื่องจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากหลายๆ แหล่ง อาทิ สื่อสารมวลชน และอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้และเข้าใจระบบปฏิบัติการในโรงพยาบาลได้มากขึ้น และกลายเป็นผู้บริโภคการดูแลสุขภาพ (Healthcare consumer) ที่เพิ่มความคาดหวัง ในเรื่องการดูแลที่ดีที่สุดและการใช้เทคโนโลยีล่าสุด

ในอีกมิติหนึ่ง ผู้บริโภคการดูแลสุขภาพต้องการ (1) เรียกร้อง (2) ได้รับข้อมูล และ (3) ได้รับการปฏิบัติที่มีศักดิ์ศรีและเมตตาธรรม ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปการเคลื่อนไหวไปสู่มิติใหม่ของการดูแลที่ “ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” (Patient-centered care) ผู้ให้กำเนิดแนวความคิดนี้ คือ แอนเจลิกา เธียเรียต (Angelica Thieriot) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ “พลาเน็ตทรี” (Planetree Foundation)

รูปแบบของโรงพยาบาลเรียกชื่อตามมูลนิธิ (Planetree model) ตอกย้ำในแง่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (Human interaction) ในการดูแลสุขภาพ และผลกระทบต่อการเยียวยารักษา (Healing) ทำให้นักวิชาชีพดูแลสุขภาพรับรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย จากหลักการดูแลให้หายป่วย (Beneficence) ว่าไม่เพียงแต่เพิ่มความพึงพอใจให้ผู้ป่วย แต่ยังส่งเสริมการเยียวยารักษาให้เร็วขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความพึงพอใจให้ผู้ให้บริการด้วย ผลลัพธ์ก็คือขวัญและกำลังใจในการทำงานดีขึ้น และประสิทธิภาพ (Productivity) ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

รูปแบบ “พลาเน็ตทรี” ยังให้อำนาจ (Empower) ผู้ป่วยในการเข้าถึงข้อมูล ผ่านแหล่งข้อมูลต่างๆ และการปรับปรุงการสื่อสารกับผู้ป่วย ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวยังขยายวงไปถึงญาติมิตรของผู้ป่วยด้วย ทำให้กลุ่มคนหล่านี้มีส่วนร่วมในโปรแกรมการดูแลรักษาและให้คำแนะนำผู้ป่วยด้วย

ผมเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. Planetree - http://planetree.org/ [2013, November xxx]
3. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)