ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 150 : วิธีการแก้ไขความขัดแย้งทางจริยธรรม

คณะกรรมการจริยธรรม (Ethics committee) ช่วยในการกำหนดนโยบายของโรงพยาบาล โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับจริยธรรมของโรงพยาบาลและแนวทางปฏิบัติ ทั้งในการทบทวนนโยบายปัจจุบัน และการพิจารณานโยบายใหม่ในอนาคต และทั้งในการวิเคราะห์และในการเสนอแนะ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปลงมือปฏิบัติ เมื่อได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว

การให้คำปรึกษา (Consultation) เป็นหน้าที่สำคัญ (Dramatic) และเห็นได้ชัด (Visible) ของคณะกรรมการจริยธรรม ซึ่งให้การช่วยเหลือแพทย์ในการตัดสินใจประเด็นต่างๆ บางครั้ง สมาชิกครอบครัวผู้ป่วย อาจขอความช่วยเหลือเมื่อมีประเด็นทางจริยธรรม ซึ่งในขั้นแรก คณะกรรมการจริยธรรมจะรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดที่จำเป็นในแต่ละกรณี

จากนั้น คณะกรรมการจริยธรรมใช้การอภิปราย (Discussion) การพิจารณาทฤษฎี และหลักการ และรูปแบบ (Model) การตัดสินใจ เพื่อให้ได้ความเห็นที่สอดคล้องกัน (Consensus) และกำหนดทิศทางของการแก้ไขความขัดแย้งทางจริยธรรม (Ethical dilemma)

รูปแบบการตัดสินใจ อาจมีหลากหลาย แต่คณะกรรมการจริยธรรมจะเลือกใช้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย (Consistent) ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับลักษณะของความขัดแย้ง (Conflict) แยกแยะผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) และค้นหาความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์

จากนั้นจะอภิปรายถึงทฤษฏีและหลักการที่จะนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่ทางเลือก (Option) หลากหลาย แต่ละทางเลือกจะได้รับการประเมิน เพื่อคัดทางเลือกที่ดีที่สุด หลังจากไตร่ตรองอย่างรอบคอบ (Deliberation) แล้ว คณะกรรมการจะเสนอแนะแผนปฏิบัติการ (Action plan) พร้อมอธิบายเหตุผล (Rationale) ที่อยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจริยธรรมก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เพราะลักษณะของประเด็นก็ซับซ้อนขึ้นทุกวัน ในขณะที่ไม่มีทางออกที่ตายตัวแบบครอบจักรวาล (Universal) สมาชิกบางคนก็ไม่เข้าใจประเด็นที่มิใช่การแพทย์ (Non-clinical) ทำให้ยากต่อการช่วยการตัดสินใจที่จะประยุกต์ใช้กับปฏิบัติการจริงในบริบทของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ บางโรงพยาบาลก็ประสบปัญหาทางการเงิน เมื่องบประมาณถูกจำกัด ในขณะที่ความต้องการบริการที่มีคุณภาพก็เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลอาจไม่มีทรัพยากร (อาทิ เงินและเวลา) เพียงพอที่จัดสรรให้คณะกรรมการจริยธรรม และซ้ำร้ายยังอาจสงสัยว่า คุณค่าจากคณะกรรมการจริยธรรมคุ้มกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้หรือไม่?

บทบาทของคณะกรรมการจริยธรรม ได้ทวีความสำคัญ ไปตามความซับซ้อนของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความกังวลในช่วงสุดท้ายของชีวิต (End of life) ความขัดแย้งทางจริยธรรม เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคาดหวังจากชุมชน ที่จะให้โรงพยาบาลมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และผลักดันด้วยคุณภาพในการให้บริการ

ผมเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)