ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 149 : การรับมือกับความขัดแย้งทางจริยธรรม

ในการรับมือกับความขัดแย้งทางจริยธรรม โรงพยาบาลมักสร้างวัฒนธรรม (Culture) ให้จริยธรรมเป็นมาตรฐาน (Norm) [มิใช่ข้อยกเว้น] ของการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องได้รับการผลักดันด้วยพันธกิจ (Mission) วิสัยทัศน์ (Vision) และค่านิยม (Value) ซึ่งสะท้อนมากกว่าเพียงการบรรลุกำไร จากผลการดำเนินงาน

ผู้ป่วยควรเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงาน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกคนควรมีพันธสัญญา (Commitment) ของการให้บริการดูแลสุขภาพ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวและรักษาการปฏิบัติงานบนพื้นฐานจริยธรรม โรงพยาบาลมักพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการจริยธรรม (Ethics committee) ที่พบเห็นทั่วไปในโรงพยาบาล ในสหรัฐอเมริกา

คณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ แพทย์ประสาทวิทยา (Neurologist) แพทย์โรคมะเร็ง (Oncologist) และจิตแพทย์ (Psychiatrist) เรียกว่า Clinical Ethics Committee : CEC) หรืออาจมีตัวแทนเพิ่มเติมจากฝ่ายการพยาบาล ฝ่ายบริหาร ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และชุมชนที่โรงพยาบาลสังกัดอยู่

คณะกรรมการจริยธรรม รับผิดชอบการจัดการกับประเด็นระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาล อาทิ การให้คำปรึกษากรณีผู้ป่วย (Patient-case consultation) และการทำวิจัยบนพื้นฐานโรงพยาบาล (Hospital-based research) โดยให้ความช่วยเหลือในการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย การให้การศึกษาด้านจริยธรรม และการกำหนดนโยบายของโรงพยาบาล

สมาชิกของคณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่ฟูมฟัก (Foster) การสื่อสาร ระหว่างบุคลากรการแพทย์กับการบริหารในเรื่องค่านิยมและการลงมือปฏิบัติ ในบางกรณี คณะกรรมชุดนี้ จะให้การศึกษาแก่ผู้ป่วย สมาชิกครอบครัวผู้ป่วย และชุมชนโดยส่วนรวม นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการตัดสินใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรที่จำกัด และการให้บริการที่มีคุณภาพ

คณะกรรมการจริยธรรม ยังรับผิดชอบการกำจัดบริการบางอย่างเพื่อประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ท่ามกลางการเบิกจ่าย (Reimbursement) ที่ได้เงินน้อยลงจากกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ ในขณะที่เทคโนโลโยการแพทย์ก็แพงขึ้นมาก แต่บทบาทสำคัญของคณะกรรมการดังกล่าว ก็คือการเสนอแนะการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

คณะกรรมการจริยธรรม เป็นตัวแทนของสติสัปชัญญะ (Conscience) เพราะเป็นผู้แปลงพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมเป็นคำแนะนำสำหรับการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของจริยธรรม เพราะในบางครั้ง โรงพยาบาล อาจไม่เข้มงวดกับคุณภาพของการให้บริการอย่างเพียงพอ เพื่อแลกกับประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สูงขึ้น

คณะกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่คอยเตือนโรงพยาบาลว่า ผู้ป่วยเป็นมนุษย์ มิใช่สายผลิตภัณฑ์ (Product line) และแนะนำนโยบายและแผนปฏิบัติงาน ที่จะตอกย้ำลักษณะงานที่แท้จริงและอำนาจการตัดสินใจของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)