ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 148 : ความขัดแย้งทางจริยธรรม

โรงพยาบาลประสบปัญหาความขัดแย้งทางจริยธรรม (Ethical dilemma) ที่เชื่อมโยงไปยังลักษณะของกิจการ อันที่จริง บริการของโรงพยาบาลเป็นทรัพยากรที่จำกัด (Scarce resources) แม้จะมีความจำเป็นในบริการดังกล่าว แต่มิใช่ทุกๆ คนจะสามารถจ่ายค่าบริการได้

บางครั้ง แม้จะมีเงินทุนเพียงพอ แต่โรงพยาบาลก็ไม่อาจให้บริการที่จำเป็นได้ อาทิ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ (Organ transplant) และการฟอกไต (Kidney dialysis) นอกจากนี้ เรายังต้องคำนึงถึงความจำเป็น (Demand) ที่โรงพยาบาลต้องดำเนินการตลอดเวลาและตลอดปี โดยไม่มีวันหยุด เพราะความต้องการบริการดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

โรงพยาบาลเป็นมากกว่าสถานประกอบกิจการ เพราะเป็นสถาบันทางสังคม (Social institution) กล่าวคือเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ชุมชนสมบูรณ์ จึงอาจได้รับเงินอุดหนุนจุนเจือ [อาทิ จากงบปะมาณแผ่นดินและเงินบริจาค] ส่วนสมาชิกชองชุมชนก็เชื่อว่า ตนเองมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาล

จากมุมมองของจริยธรรม ชุมชนยังคาดหวังว่า จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ซึ่งรวมทั้งการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างมีศักดิ์ศรี การป้องกันมิให้เกิดอันตราย และการดูแลให้หายป่วย นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ประสบการณ์โดยรวม (Overall experience) ของผู้ป่วยแต่ละคน เป็นไปในเชิงบวก แม้อาจจะเกี่ยวข้องกับการตายของสมาชิกในครอบครัว ก็ตาม

ประเด็นเหล่านี้ มีผลกระทบต่อผลประกอบการของโรงพยาบาล ในธุรกิจอื่นๆ ผู้บริหารอาจสั่งให้ลดจำนวนพนักงาน หรือปิดบางส่วนของกิจการ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในยามลำบาก [กล่าวคือ กำไรหดหาย หรือขาดทุน] แต่โรงพยาบาลก็ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารไม่สามารถสั่งลดพยาบาลจำนวนมาก เพื่อประหยัดเงิน เพราะจะมีผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล จนผู้ป่วยบางรายถึงแก่ความตาย และโรงพยาบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ถึงแม้ผู้ป่วยนั้น จะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้ นอกจากจะไม่สร้างรายได้ แต่ยังสร้างรายจ่าย ให้แก่โรงพยาบาล

ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลก็สูงขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย การปรับปรุงวิธีการบำบัดรักษา การใช้ยาและอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าขึ้น กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นของการเบิกจ่ายทั้งจากกองทุนรัฐบาล และบริษัทประกันสุขภาพของเอกชน ตลอดจนประเด็นของผู้ที่มิได้รับการคุ้มครองทางใดทางหนึ่ง แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา

ความขัดแย้งระหว่างพันธกิจ (Mission) กับกำไร (Profit) เป็นประเด็นที่พบเห็นเป็นประจำ ในมิติหนึ่งโรงพยาบาล มีพันธกิจต้องให้บริการตามความจำเป็นของผู้ป่วย โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย แต่ในอีกมิติหนึ่ง โรงพยาบาลต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของกำไรเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานบุคลากรของโรงพยาบาลด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)