ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 144 : การว่าจ้างจากภายนอก

ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology : IT) ภายในโรงพยาบาล ทำหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลและสารสนเทศ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มแสดงความสนใจในการว่าจ้างจากภายนอก (Outsource) ทำหน้าที่บางส่วนหรือทั้งหมดของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ

เหตุผลของการเกิดแนวโน้มดังกล่าว มีหลากหลายด้วยกัน บางโรงพยาบาลไม่มีบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญ หรือไม่มีเวลาและทรัพทยากรอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงสถานะของแผนก รวมทั้งไม่สามารถดำเนินการโครงการ (Project) ใหม่ๆ หรือให้บริการใหม่ๆ ไปตามวิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ

โรงพยาบาลบางแห่ง เลือกที่จะว่าจ้างจากภายนอกในบางเรื่องเท่านั้น อาทิ การให้บริการ “ศูนย์แก้ปัญหา” (Help desk) หรือพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อให้บุคลากรภายใน มุ่งเน้นไปยังงานหลักของการติดตั้ง หรือสนับสนุนโปรแกรมประยุกต์ ที่ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาล

แต่ก็มีโรงพยาบาลบางแห่งที่ตัดสินใจว่าจ้างจากภายนอก มาให้บริการโปรแกรมประยุกต์ (Application service provider : ASP) โดยบริหารทั้งระบบ ซึ่งรวมทั้งการบริหารข้อมูล และในการสนับสนุนทางด้านเทคนิค โดยมีจุดหมายที่จะควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม ให้อยู่ในงบประมาณที่จัดสรรไว้

แต่มิได้หมายความว่า การว่าจ้างจากภายนอก จะถูกกว่าการมีแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศภายในโรงพยาบาลเองเสมอไป ในบางครั้ง ผู้บริหารใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบ อาจค้นพบปัญหาที่หมักหมมมานาน อันเป็นผลจากความผิดพลาดในการบริหารในอดีต

ตัวอย่างเช่น โปรแกรมประยุกต์ไม่สามารถทำงานได้ดี [เนื่องจากปริมาณภาระงานที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป] โครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มไม่มีเสถียรภาพ และบุคลากร [ที่เข้า-ออกตลอดเวลา จน] เสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน ในกรณีเช่นนี้ การว่าจ้างจากภายนอก อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับโรงพยาบาล

ในการประเมินว่า จะว่าจ้างจากภายนอกเพียงบางส่วน หรือทั้งแผนก จำต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในเรื่องความรู้และทักษะความชำนาญของบุคลากรที่มีอยู่ ความยากง่ายในการแสวงหาและรักษาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดลำดับความสำคัญของระบบสารสนเทศเปรียบเทียบกับส่วนผสมของทรัพยากรที่มีอยู่

นอกจากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการว่างจ้างจากภายนอกเปรียบเทียบกับความเสี่ยงแล้ว คำถามมีอยู่ว่า ควรว่าจ้างจากภายนอกเข้ามาจัดการส่วนใดหรือทั้งแผนก และจะเฝ้าติดตาม (Monitor) และประเมินผลของการว่าจ้างจากภายนอกได้อย่างไร ในแง่ของความเร็วและคุณภาพของบริการ กล่าวโดยสรุป การจะตัดสินใจบริหารเองหรือว่าจ้างจากภายนอก ขึ้นอยู่กับการประเมินประสิทธิผลของบริการ เปรียบเทียบกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Wagner, Karen A., Frances W. Lee and John P. Glaser (2009). Health Care Information Systems : A Practical Approach for Health Care Management (2th Ed). San Francisco, CA : Jossey-Bass, A Willey Imprint.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)