ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 142 : บุคลากรหลักในระบบสารสนเทศ

ในระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล มีงานของบุคลากรหลักอยู่ 3 ตำแหน่ง กล่าวคือ นักวิเคราะห์ระบบ (System analyst) นักเขียนโปรแกรม (Programmer) และนักบริหารฐานข้อมูล (Database administrator)

นักวิเคราะห์ระบบ (System analyst) มีบทบาทสำคัญในระบบสารสนเทศ ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของเขา และความจำเป็นของโรงพยาบาล นักวิเคราะห์ระบบบางคนมีพื้นฐานแข็งแรงของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่บางคนมีพื้นฐานนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อาทิ พยาบาล เภสัชกร หรือเทคนิคการแพทย์ ซึ่งความต้องการในบุคลากรกลุ่มมีมากขึ้น เนื่องจากความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการระบบสารสนเทศทางการแพทย์ (Clinical information system : CIS)

นักวิเคราะห์ระบบทำงานใกล้ชิดกับผู้ใช้ ในการค้นหาความจำเป็นและปัญหาในระบบสารสนเทศ การประเมินการเส้นทางของงาน (Workflow) และการกำหนดกลยุทธ์สำหรับการใช้และประสิทธิผลของระบบ โดยการกำหนดสิ่งที่ป้อนเข้าไปในระบบ (Input) การออกแบบขั้นตอนประมวลข้อมูล และรูปแบบ (Format) ของผลลัพธ์ (Output) ที่สนองความต้องการของผู้ใช้ โดยเตรียมข้อกำหนด (Specification) ผังการเส้นทางของงาน (Flowchart) และภาพกระบวนการ (Process diagram)

นักเขียนโปรแกรม (Programmer) อาจเป็นคนเดียวกับนักวิเคราะห์ระบบในโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่ในโรงพยาบาลทั่วไป หน้าที่นี้แยกออกจากนักวิเคราะห์ระบบ เพราะทักษะความชำนาญที่แตกต่างกัน นักเขียนโปรแกรม ทำหน้าที่เขียน ทดสอบ และรักษาไว้ซึ่งโปรแกรม ที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่นักวิเคราะห์ระบบต้องการ

นักเขียนโปรแกรมยังสร้าง ออกแบบ และทดสอบโครงสร้างทางตรรกกะ (Logical structure) เพื่อแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการคำนวณ (Advanced computing technology) ภาษาทันสมัยใหม่ๆ และนวัตกรรมการเขียนโปรแกรม ได้เปลี่ยนบทบาทและวิชาชีพของนักเขียนโปรแกรมให้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น

นักบริหารฐานข้อมูล ทำงานกับซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของระบบบริหารฐานข้อมูล และกำหนดวิธีการจัดระเบียบและเก็บข้อมูล เขาค้นหาความต้องการของผู้ใช้ จัดตั้งฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตลอดจนทดสอบและประสานงานการดัดแปลง (Modification) ระบบดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจ “เวทีพื้นฐาน” (Platform) ของการทำงานของฐานข้อมูล เพิ่มผู้ใช้รายใหม่ในระบบ และสร้างความมั่นใจในการทำงานของระบบฐานข้อมูล

นักบริหารฐานข้อมูลอาจต้องออกแบบและติดตั้งความมั่นคง (Security) ของระบบฐานข้อมูล หรือร่วมวางแผนและประสานงานในเรื่องมาตรการความมั่นคง เนื่องจากปริมาณข้อมูลสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว งานของนักบริหารฐานข้อมูลก็ทวีความสำคัญไปด้วย ในด้านความสมบูรณ์ของข้อมูล (Data integrity) ระบบสำรอง (Back-up system) และความมั่นคงของฐานข้อมูล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Wagner, Karen A., Frances W. Lee and John P. Glaser (2009). Health Care Information Systems : A Practical Approach for Health Care Management (2th Ed). San Francisco, CA : Jossey-Bass, A Willey Imprint.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)