ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 139 : แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ

แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology : IT) เป็นบูรณาการของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ตั้งแต่ยุคที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Mainframe) โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนในปฏิบัติการ ซึ่งต้องอาศัยแผนกนี้ในการจัดการข้อมูลและกระบวนการของฝ่ายการแพทย์ (Clinical) และฝ่ายบริหาร (Administrative)

ในโรงพยาบาลทั่วไป จะมีบุคลากรที่อยู่ “หลังฉาก” ในการพัฒนาหรือปรับปรุงซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Applications) สร้างระบบเชื่อมโยง (Interface) ดูแลฐานข้อมูล (Database) การติดตั้งเครือข่าย (Network) เตรียมสำรองระบบ (System back-up) และประกอบกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ

งานสนับสนุนประจำวัน ได้แก่การซ่อมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal computer : PC) การตอบคำถามผู้ใช้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ การฝึกอบรมผู้ใช้รายใหม่ การปรับปรุงให้ทันสมัย (Upgrade) ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์จากผู้ขาย (Vendor) และมาตรการความมั่นคง (Security) อาทิ การป้องกันโครงสร้างพื้นฐาน จากการจู่โจมของไวรัส และการเตรียมแผนฟื้นฟูหายนะ (Disaster recovery : DR)

โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อุปกรณ์แม่ข่าย (Server) ระบบปฏิบัติการ (Operating system) และสถานีงาน (Workstation) จะต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอจากแผนกนี้ ตลอดจนการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ การค้นหาสาเหตุ (Trouble-shoot) และ “ศูนย์แก้ปัญหา” (Help desk) อาทิ ซ่อมเครื่องพิมพ์ที่ไม่ทำงาน และแก้ปัญหาผู้ใช้ลืมรหัสผ่าน

หน้าที่ของแผนกนี้ ในด้านซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือการแสวงหาระบบใหม่ พัฒนาเพิ่มเติมจากระบบปัจจุบัน ติดตั้งระบบใหม่ และทำงานร่วมกับผู้ขายในการแก้ปัญหาของผู้ใช้ อาจแยกการทำงานเป็นกลุ่มเฉพาะ อาทิ ระบบ “หน้างาน” (Front office) ในการรักษาพยาบาล (Clinical) และระบบ “หลังบ้าน” (Back office) ในการบริหารการเงิน

ในกลุ่ม “หน้างาน” แผนกจะให้การสนับสนุนระบบห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ (Laboratory Information System : LIS) และระบบบริหารจัดการรังสีวิทยา (Radiology Information System : RIS) ซึ่งรวมระบบบันทึกและสะสมภาพดิจิทอล (Picture and Archiving Communication System : PACS) นอกเหนือไปจากการสร้างฐานเว็บ (Web-base) เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ใช้จากภายนอก

แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาลที่สังกัดโรงเรียนแพทย์ จะรวมถึงกลุ่มงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อวัตถุประสงค์การทำวิจัยและวิชาการด้วย ซึ่งต้องมีการออกแบบกระบวนการที่แตกต่างออกไป รวมทั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision-Support System : DSS) โดยใช้ฐานข้อมูลในการวิเคราะห์และทำรายงาน อาทิ รายงานผลประกอบการทางการเงิน (Financial performance) และรายงานคุณภาพของดูแลรักษา (Quality of care)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล
  1. Wagner, Karen A., Frances W. Lee and John P. Glaser (2009). Health Care Information Systems : A Practical Approach for Health Care Management (2th Ed). San Francisco, CA : Jossey-Bass, A Willey Imprint.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)