ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 138 : วิธีการจัดทำงบประมาณ

การจัดทำงบประมาณมีหลากหลายวิธี แต่ที่นิยมกันมาก ได้แก่ การจัดทำ (1) งบประมาณตามรายการ (Line-item budget) (2) งบประมาณตามศูนย์ความรับผิดชอบ (Responsibility-center budget) และ (3) งบประมาณตามโปรแกรม (Program budget) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพยาบาลต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มทดลองกับง (4) งบประมาณตามผลงาน (Performance-based budget) อาทิ งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budget) กล่าวคือ ไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในอดีต แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิผลได้ดีกว่าวิธีแรก

งบประมาณตามรายการ เป็นประเภทเฉพาะของทรัพยากรที่ใช้ในโรงพยาบาล อาทิ เงินเดือนและค่าโสหุ้ย (Overhead) เป็นรายการค่าใช้จ่ายของแต่ละประเภท แต่ศูนย์ความรับผิดชอบในโรงพยาบาล จะแบ่งงบประมาณตามแต่ละหน่วยงานที่มีหัวหน้าแต่ละคนรับผิดชอบ

ส่วนงบประมาณตามโปรแกรม จะแสดงรายได้และรายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละโปรแกรม ซึ่งอาจเป็นโปรแกรมปรกติ โปรแกรมพิเศษ หรือบริการเฉพาะกิจ อาทิ โปรแกรมศัลยประสาท (Neurosurgery) โปรแกรมศัลยกรรมพลาสติก (Plastic surgery) หรือโปรแกรมจักษุวิทยา (Ophthalmology)

การประเมินผลงานเป็นไปตามกำไร-ขาดทุนของแต่ละโปรแกรม หากโปรแกรมไหน ประสบผลขาดทุน โรงพยาบาลก็อาจตัดสินใจยกเลิกโปรแกรมนั้นไป อาทิ ในแผนกศัลยกรรมพลาสติก อาจมีโปรแกรมศัลยกรรมทางเลือก (Elective surgery) ซึ่งมิใช่หัตถการที่จำเป็น ก็อาจไม่ได้รับความนิยม จนต้องปิดโปรแกรมนี้ไป

การจัดทำงบประมาณ เป็นการวางแผนเพื่ออนาคต ทั้งรายได้และรายจ่ายจึงขึ้นอยู่กับการประมาณการปัจจัยต่างๆ อาทิ จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนวันนอนป่วย (Length of stay) ในโรงพยาบาบ ระยะเวลาเฉลี่ยของการเก็บเงิน ต้นทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงาน อาทิ ค่าไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศที่มีผลกระทบต่อการปรับอากาศ (Air-conditioning) ภายในโรงพยาบาล

ตามปรกติ มีปัจจัยมากมายที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ในทางสถิติ มีวิธีการที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำของการพยากรณ์ อาทิ การอาศัยข้อมูลในอดีต (Historical data) ในการสร้างแบบจำลองวิเคราะห์ (Analytical model) แล้วผนวกกับวิจารณญาณ (Judgment) ของผู้พยากรณ์ เพื่อพยากรณ์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ปัจจัยบางอย่าง อาทิ ภาระงาน (Workload) ในโรงพยาบาลก็เป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ยาก ดังนั้น จึงมีการใช้ “งบประมาณยืดหยุ่น” (Flexible budget) ซึ่งก็คือ งบประมาณที่ปรับเปลี่ยนได้ไปตามการเปลี่ยนแปลงในปริมาณ (Volume) ของภาระงาน ตัวแปรไหนที่ค่อนข้างคงที่ ก็จัดสรรงบประมาณไปตามนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง (Fixed budget) แต่ยอมให้มีงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงตามตัวแปร (Variable budget) ของปริมาณภาระงาน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล
  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)