ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 136 : การบริหารงบประมาณ

ทรัพยากรของโรงพยาบาล (อาทิ เงินทุน สำนักงาน วัสดุ และบุคลากร) ล้วนมีจำกัด ดังนั้น โรงพยาบาลจำต้องมีการวางแผนเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด (Maximum utilization) แผนงานนี้เรียกว่า “งบประมาณ” (Budget) การจัดทำงบประมาณเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนภาพรวมของโรงพยาบาล (Corporate planning)

ในกระบวนการทำงบประมาณ (Budgetary process) ทรัพยากรของโรงพยาบาลจะได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสม จากนั้น เป็นความรับผิดชอบของบุคลากรในโรงพยาบาล ที่ต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานนี้ แล้ว ณ สิ้นงวด (อาจเป็นเดือน ไตรมาส หรือปี) จะมีการประเมินผล ว่าเป็นไปตามงบประมาณหรือไม่?

งบประมาณบังคับให้ผู้บริหารโรงพยาบาลต้องคิดล่วงหน้า สำรวจทางเลือก และตัดสินใจเลือกวิถีทางที่จะทำให้โรงพยาบาลได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คำว่า “งบประมาณ” เป็นคำกว้างที่รวมถึง (1) งบประมาณดำเนินงาน (Operating budget) (2) งบประมาณทุน (Capital budget) และ (3) งบประมาณเงินสด (Cash budget)

โรงพยาบาลจัดทำงบประมาณดำเนินงาน โดยวางแผนเกี่ยวกับรายได้ (Revenue) ที่คาดว่าจะได้รับในการให้บริการแก่ผู้ป่วย ต้นทุน (Cost) และค่าใช้จ่าย (Expense) ที่จะเกิดขึ้นจากการให้บริการดังกล่าว โรงพยาบาลเอกชนจะได้รับเงินจากผู้ป่วยเพื่อแลกกับบริการที่ให้ ส่วนโรงพยาบาลรัฐ นอกจากจะได้เงินบางส่วนจากผู้ป่วยแล้ว ยังได้รับงบประมาณแผ่นดิน และเงินบริจาค (Contribution) อีกด้วย

โรงพยาบาลแต่ละแห่งอาจใช้กระบวนการจัดทำงบประมาณ (Budget process) ที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากไปถึงซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนในทางปฏิบัติจะคล้ายคลึงกัน 4 ขั้นตอน กล่าวคือ (1) เริ่มต้นด้วยการจัดเตรียมงบประมาณ (2) มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีอำนาจอนุมัติ (3) มีการนำไปลงมือปฏิบัติโดยทีมงานผู้บริหาร และ (4) มีการประเมินผล โดยคณะกรรมการที่อนุมัติงบประมาณ

ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณ มักมีการปรับเปลี่ยนตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ แต่ทีมงานผู้บริหารโรงพยาบาลก็อาจขอเจรจาต่อรองกับคณะกรรมการก่อนที่จะได้รับอนุมัติเป็นทางการ ส่วนผลลัพธ์จาการนำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทีมงานผู้บริหาร อาจแตกต่างไปจากงบประมาณที่ตั้งไว้ จึงต้องมีการวิเคราะห์ในรายละเอียด ซึ่งจะเป็นเสียงสะท้อน (Feedback) สำหรับกการจัดทำงบประมาณครั้งต่อไป

กระบวนการจัดทำงบประมาณอาจซับซ้อนและใช้เวลามาก ในบางโรงพยาบาลอาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ จึงตัองมีการจัดเตรียมตารางตามปฏิทิน (Calendar) แต่เนิ่นๆ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ กิจกรรมต่างๆ ต้องมีการระบุช่วงเวลา (Timeline) และสิ้นสุดเวลา (Deadline) เพื่อให้แน่ใจว่า จะทำงบประมาณเสร็จทันเวลา เปลี่ยนแปลงแก้ไข และอนุมัติก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)