ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 135 : การวิเคราะห์งบการเงิน

ผู้จัดการ และผู้ลงทุนในโรงพยาบาล ต้องการจะทราบถึงผลประกอบการของโรงพยาบาล เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ผู้ให้กู้เงินก็ต้องการทราบว่า โรงพยาบาลจะสามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้หรือไม่? กรมสรรพากรก็ต้องการทราบภาษีที่จะได้รับชำระจากโรงพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุขต้องการประเมินการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของโรงพยาบาลรัฐ ฯลฯ

ความต้องการหลากหลายในการกำกับและการรายงานผลทางการเงินดังกล่าว ทำให้มีการพัฒนามาตรการต่างๆ เพื่อชี้วัดถึง “สุขภาพ” ทางการเงิน (Financial health) ของโรงพยาบาลในรูปแบบของอัตราส่วน (Ratio) โดยทั่วไป รายงานทางการเงิน อาจมีอัตราส่วนถึง 30 ตัว ในการชี้วัดผลงาน แต่การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจอัตราส่วน เพียง 6 - 8 ตัว ก็เพียงพอต่อการตัดสินใจแล้ว

นอกจากนี้การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ในทางปฏิบัติมีอัตราส่วนหลัก เพียงตัวเดียวที่วัดผลทางการเงินในแต่ละด้าน อัตราส่วนตัวที่เหลือจะสัมพันธ์กับอัตราส่วนหลักดังกล่าว ในบริบทของโรงพยาบาล อัตราส่วนหลักได้แก่ ตัวที่ชี้วัดผลกำไร (Profitability) ประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สิน (Asset efficiency) โครงสร้างเงินทุน (Capital structure) ประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน (Working capital efficiency) และสภาพคล่อง (Liquidity)

เป้าหมายทางการเงิน สำหรับโรงพยาบาลคือการสร้างกำไร ซึ่งสะท้อนอยู่ในอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อรายได้ (Gross margin) กำไรจากการดำเนินงาน (Operating margin) และกำไรสุทธิ (Net income) ต่อรายได้ นอกจากนี้ยังมี อัตราส่วนผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (Return on assets : ROA) และผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on investment : ROI)

ประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สิน สามารถชี้วัดได้โดยจำนวนครั้งของการหมุนเวียนทรัพย์สิน (Asset turnover) และสินค้าคงคลัง (Inventory turnover) ต่อปี สามารถคำนวณได้โดยหารรายได้ทั้งหมดด้วยทรัพย์สิน และสินค้าคงคลัง (ตามลำดับ) ณ สิ้นงวด (อาจเป็นเดือน ไตรมาส หรือปปี) อัตราส่วนนี้แสดงถึงความสามารถของทรัพย์สินและสินค้าคงคลังในการสร้างรายได้

โครงสร้างเงินทุน แสดงถึงสถานะในการก่อหนี้ อัตราส่วนของหนี้สินต่อทุน (Debt/equity ratio) ชี้วัดถึงโครงสร้างที่อาศัยเงินกู้ยืมเปรียบเทียบกับเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ยังอาจชี้วัดผลด้วยอัตราส่วนของทรัพย์สินต่อทุน (Asset/equity) ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพการใช้เงินลงทุนของผู้ถือหุ้น เพื่อซื้อทรัพย์สินมาใช้การดำเนินงาน

ส่วนประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน ชี้วัดผลด้วยอัตราส่วนหมุนเวียน (Current ratio) สามารถคำนวณได้โดยเอาทรัพทย์สินหมุนเวียน (Current assets) หารด้วยหนี้สินหมุนเวียน (Current liabilities) ซึ่งสอดคล้องกับอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity ratio) ที่สะท้อนออกมาในรูปของจำนวนวันเงินสดในมือ (Days of cash on hand) และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด (Marketable securities) ซึ่งมีมากพอสำหรับการชำระหนี้ระยะสั้น

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)