ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 134 : งบการเงิน

โรงพยาบาลจัดทำงบการเงิน 3 งบ โดยที่งบที่ 1 เรียกว่า “งบดุล” (Balance sheet) ซึ่งคล้ายกับการถ่ายภาพ ของโรงพยาบาล ณ จุดหนึ่งของเวลา อันแสดงสถานะวันสุดท้ายของการปิดรอบบัญชี เป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี เป็นการรายงานเป็นตัวเงินของทรัพย์สินที่โรงพยาบาลซื้อมา และแหล่งที่โรงพยาบาลได้เงินมาเพื่อซื้อทรัพย์สินดังกล่าว

โรงพยาบาลที่มีงบดุลแข็งแรง จะสามารถเผชิญการขาดทุนในระยะสั้นหรือกำไรที่ลดลงได้ ส่วนโรงพยาบาลที่มีงบดุลอ่อนแอ ก็จะประสบความลำบากในการอยู่รอด ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน มักอ่านงบดุลก่อนงบอื่นๆ เราสามารถเข้าใจความเคลื่อนไหวภายในโรงพยาบาลจากงบดุล แต่ต้องอาศัยข้อมูลจากงบอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้ได้ภาพรวมทั้งหมดของทรัพยากรในโรงพยาบาล

งบที่ 2 เรียกว่า “งบกำไร-ขาดทุน” (Income statement) เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงาน (Operations) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินทุน (Fund) ในกระบวนการสร้างรายได้ (กล่าวคือ การเกิดรายจ่าย) การใช้เงินทุนที่ไม่สร้างรายได้ (กล่าวคือ ขาดทุน) แหล่งของเงินทุนที่เกิดจากรายจ่าย (กล่าวคือรายได้) และแหล่งของเงินทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างรายได้ (กล่าวคือ กำไร)

งบกำไร-ขาดทุน ใช้เพื่อกำหนดคุณค่าจากการลงทุน และความน่าเชื่อถือ (Credit worthiness) ซึ่งแสดงถึงจำนวนเงินที่โรงพยาบาลได้รับ และที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้บริการ ในงวดหนึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นเดือน ไตรมาส หรือปี งบกำไร-ขาดทุนในอดีต ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อพยากรณ์กระแสเงินสดในอนาคต (อาทิ จำนวนเงิน เวลา และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสด)

งบที่ 3 เรียกว่า “งบกระแสเงินสด” (Cash flow statement) เป็นงบที่ทำให้ผู้อ่าน เข้าใจถึงส่วนประกอบต่างๆ ของงบการเงิน ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินสดของโรงพยาบาล ซึ่งแสดงถึงผลดำเนินงานในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาในงบดุล

รายการในงบดุล จะได้รับการวิเคราะห์และแปลงจากฐาน “ค้างรับ-ค้างจ่าย” (Accrual) มาเป็นฐานเงินสด ในการจัดทำงบกระแสเงินสด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของโรงพยาบาล) กระแสเงินสดจากการลงทุน (อาทิ ในทรัพย์สิน) และจากการใช้เงินทุน (Financing) (อาทิ ไปชำระหนี้สิน)

งบการเงินทั้ง 3 รวบรวมไว้ซึ่งข้อมูลอย่างสมบูรณ์ (Comprehensive) สามารถเปิดเผยถึงผลประกอบการของโรงพยาบาล ดังนั้นการวิเคราะห์งบการเงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ของโรงพยาบาล ซึ่งได้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริจาค ชุมชนผู้อุปถัมภ์ เจ้าหนี้เงินกู้ กรมสรรพากร บริษัทประกันสุขภาพ องค์กรรับรองคุณภาพ เครือข่ายคู่สัญญา (Network contractors) กับโรงพยาบาล คู่สัญญาช่วง (Subcontractors) คู่ค้าที่ขายสินค้าและบริการให้โรงพยาบาล (Suppliers/vendors) และคู่แข่งขันของโรงพยาบาล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)