ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 133 : พื้นฐานและกรอบการบัญชี

พื้นฐานของบัญชี สามารถแสดงเป็นสมการได้ดังนี้ : ทรัพย์สิน (Assets) = หนี้สิน (Liabilities) + ทุน (Equity)

ทรัพย์สิน คือสิ่งของทุกอย่างที่มีมูลค่า ซึ่งโรงพยาบาลเป็นเจ้าของ อันได้แก่ เงินสด (หรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด) เงินลงทุนที่อื่น ลูกหนี้ (Accounts receivable) และสินค้าคงคลัง (Inventory) ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible assets)

ส่วนหนี้สิน คือข้อผูกมัด (Obligations) ของโรงพยาบาล อันได้แก่ เจ้าหนี้ (Accounts payable) ตั๋วเงินจ่าย (Notes payable) ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued expenses) และหนี้สินระยะยาวของโรงพยาบาลต่อบุคคลภายนอก

ทุน คือส่วน (Share) ของทรัพย์สินที่โรงพยาบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งคือผลต่างระหว่างทรัพย์สินกับหนี้สิน ในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว แต่ในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ไม่หวังผลกำไร ไม่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้นส่วนนึ้จึงเรียกกันว่า “ทรัพย์สินสุทธิ” (Net assets)

[แม้ไม่ปรากฏหลักฐานของชื่อผู้ต้นคิด] ได้มีการใช้หลักบัญชีคู่ (Double entry principle) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2035 โดยหลักการนี้ระบุว่า การบันทึกทางบัญชีต้องสะท้อน 2 ด้านของแต่ละรายการ เรียกว่า “เดบิต” (Debit) และ “เครดิต” (Credit) อันที่จริง 2 คำนี้ ไม่มีความหมายในทางบัญชีแล้ว แต่เป็นสัญลักษณ์ของการบันทึกบัญชีที่สะท้อนผลกระทบ [เหมือนเหรียญ 2 ด้าน]

การบัญชียึดหลัก แนวความคิด “อนุรักษ์นิยม” (Conservatism concept) ซึ่งระบุว่า รายการบัญชีต้องได้รับการบันทึกต้นทุน (Cost) เป็นตัวเงิน และทรัพย์สินส่วนมาก ควรได้รับการบันทึกมูลค่าอย่างอนุรักษ์นิยม ตามต้นทุนในอดีต (Historical cost) อาทิ หากโรงพยาบาลซื้อที่ดิน แล้วครอบครองเป็นเวลายาวนาน มูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าว ไม่ควรเพิ่มขึ้น [หรือลดลง] ตามราคาตลาด หรือเปลี่ยนแปลงจากการบันทึกครั้งแรก

แต่ ทรัพย์สินบางอย่าง ซึ่งมีมูลค่าตลาดที่สังเกตได้ชัดเจน โดยเฉพาะหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด (Marketable securities) [อาทิ หุ้นสามัญ (Stock) และหุ้นกู้ (Bond)] ได้รับการยกเว้นจากกฎเกณฑ์นี้ จึงควรบันทึกตามราคาตลาด

แนวความคิด “ค้างรับ-ค้างจ่าย” (Accrual concept) ระบุว่า เราจะรับรู้รายรับของโรงพยาบาล ก็ต่อเมื่อมีการให้บริการเท่านั้น ไม่ใช่เมื่อรับเงินสดมาล่วงหน้า ในทำนองเดียวกัน การรับรู้รายจ่ายของโรงพยาบาล ก็ต่อเมื่อรายจ่ายนั้นมีขึ้นเพื่อให้เกิดการบริการ ซึ่งอาจมิได้เกิดการจ่ายเงินสดทันทีก็ได้ ดังนั้น การเกิดการรับรู้รายรับ-รายจ่าย ที่เหมาะสมจึงควรคำนึงถึง “เกณฑ์สิทธิ” ในงวดเดียวกัน

แนวความคิดนี้สอดคล้องกับแนวความคิด “จับคู่” (Matching concept) เพื่อคำนวณหากำไร-ขาดทุน ที่ถูกต้องในงวดเดียวกัน มิฉะนั้น อาจเกิดการยักย้ายถ่ายเท (Manipulate) ผลดำเนินงานไปตามอำเภอใจของผู้ลงบันทึกรายการบัญชี

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed).Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)