ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 132 : การบริหารการเงิน

แผนกบัญชีและการเงินของโรงพยาบาล รับผิดชอบต่อปฏิบัติการทางบัญชีและบริการทางการเงินในโรงพยาบาล ซึ่งรวมทั้งการสร้างความมั่นใจในเรื่องการบันทึกรายการบัญชีที่ทันกาล (Up-to-date) และถูกต้องแม่นยำ (Accurate) ตลอดจนการจัดทำและนำเสนอรายงานทางการเงินต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล

นอกจากนี้ แผนกนี้ยังให้การสนับสนุน (Support) ทางการเงินแก่ผู้บริหารโรงพยาบาล การพัฒนาบุคลากรทางบัญชีและการเงิน รวมถึงการปกป้อง (Safe-guard) และรักษา (Preserve) ทรัพย์สิน (Asset) โรงพยาบาล โดยที่กระบวนการบริหารบัญชีและการเงินเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ภายในบริบททางการเงินของโรงพยาบาล

ผังองค์กร (Organizational chart) ของแผนกบัญชีและการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของโรงพยาบาล ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอาจต้องปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจมีเจ้าหน้าที่ที่แบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว

ผู้รับผิดชอบต่อการกำกับดูแลการบริหารการเงินทั้งหมดของโรงพยาบาล คือรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) คุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ คือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant : CPA) หรือนักบัญชีบริหารที่ได้รับการรับรอง (Certified Management Accountant : CMA) ในสหรัฐอเมริกา [ในประเทศไทยยังไม่มีการรับรองนักบัญชีบริหาร]

ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจมีผู้สอบภายใน (Internal auditor) เพื่อให้แน่ใจว่า รายการทางบัญชีและรายงานทางการเงิน เป็นไปตามหลักบัญชีที่ยอมรับกันไปทั่ว (Generally accepted accounting principles : GAAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (Securities Exchange Commission : SEC) ทั้งในสหรัฐเมริกา และในประเทศไทย

การบริหารการเงินขึ้นอยู่กับการจัดทำบัญชี ซึ่งมีความสำคัญต่อโรงพยาบาลด้วยเหตุผล 3 ประการ ประการแรก บัญชีเป็นภาษาของการดำเนินงาน ซึ่งการบันทึกรายการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของนักบัญชี ประการที่ 2 งบการเงิน (Financial statement) แสดงภาพที่ชัดเจนที่สุดของสถานภาพทางการเงิน (Financial health) ของโรงพยาบาล และประการสุดท้าย ความรู้ทางบัญชีการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนและงบประมาณ

บัญชีเป็นสาขาวิชาที่ซับซ้อน การที่จะอ่านและเข้าใจงบการเงินได้ ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลัง ปรกติแล้ว โรงพยาบาลจะจัดทำงบการเงิน 3 แบบ กล่าวคือ (1) งบกำไร-ขาดทุน (Income statement) ในโรงพยาบาลเอกชน หรือเรียกว่า “งบดำเนินงาน” (Statement of Operations) ในโรงพยาบาลรัฐ (2) งบดุล (Balance sheet) และ (3) งบกระแสเงินสด (Statement of cash flow)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)