ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 131 : การบริหารวงจรรายได้

ประสิทธิภาพของวงจรรายได้ (Revenue cycle) หรือขั้นตอนการเก็บเงิน นับวันจะทวีความสำคัญต่อกำไร-ขาดทุนของโรงพยาบาล ดังนั้น ผู้บริหารโรงพยาบาล จึงหาหนทางที่จะปรับปรุงปฏิบัติการในด้านนี้ การบริหารวงจรรายได้ เกี่ยวข้องกับหน้าที่งานการทั้งการแพทย์และการบริหารที่ก่อให้เกิดรายได้จากการให้บริการผู้ป่วย

จุดประสงค์คือการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการวงจรรายได้ และใช้ประโยน์เกื้อกูล (Leverage) จากศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในกระบวนการจ่ายเงินอันซับซ้อน ซึ่งได้แก่ การพูดคุยกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเอกสารเพื่อให้การศึกษา (Educational material) และการสร้างแผนที่ถนน (Roadmap) หรือพิมพ์เขียว (Blueprint) สำหรับบริการที่เปิดใหม่

แล้วยังต้องศึกษากรณีที่ถูกปฏิเสธการเบิกจ่าย และพิจารณาผลลัพธ์จากกระบวนการอุทธรณ์ ดัชนีชี้วัดหลัก (Key performance indicator : KPI) และมาตรการอื่นๆ อาทิ จำนวนวันในบัญชีลูกหนี้ (Days in accounts receivable) อายุบัญชีลูกหนี้ (Accounts receivable aging) เปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนกับบัญชีลูกหนี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ KPI อื่นๆ ได้แก่ การเก็บเงิน ณ จุดบริการ (Point-of-service (POS) collection) ต้นทุนในการเก็บเงิน (Collection cost) เงินที่เก็บได้เป็นอัตราส่วนกับรายได้จากการให้บริการผู้ป่วย หนี้สูญ (Bad debt) บริการเพื่อการกุศล (Charity care) และจำนวนวันที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแต่ยังไม่ได้เรียกเก็บเงิน (Days in Discharged but Not Final Billed : DNFB) ซึ่งเป็นสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่เลือกเข้าสู่ระบบเรียกเก็บเงิน (Claim reimbursement)

การเรียกเก็บเงินของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด โรงพยาบาลมีความเสี่ยงในเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อเรียกเก็บเงินจากกองทุนเบิกจ่ายทั้ง 3 กองทุน อันได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสวัดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

ความเสี่ยงดังกล่าว คือการขอเบิกจ่ายที่เป็นเท็จ อันเกิดจากการปรับเพิ่มรหัส (Up-coding) เพื่อให้เบิกจ่ายในจำนวนเงินที่มากขึ้น การแยกรายการเดียวกันเป็นการเบิกจ่ายหลายรายการ (Unbundle) การได้ส่วนแบ่งคืนอย่างทุจริต(Kickback) และการขอเบิกจ่ายรายการและบริการที่เกินความจำเป็นต่อการรักษาพยาบาล

การรับมือกับประเด็นนี้มักจัดทำเป็นโปรแกรม ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ (1) กำหนดให้มีมาตรฐานปฏิบัติการ (2) กำหนดให้มีผู้กำกับให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) ซึ่งอาจเป็นในรูปคณะกรรมการ (3) มีระบบเฝ้าติดตามภายใน (Internal monitor) (4) มีการตรวจสอบ (Audit) (5) ให้การฝึกอบรมและการศึกษาบุคลากร (6) รีบจัดการกับกรณีทุจริตที่ค้นพบ (7) แก้ไขป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก และ (8) เปิดช่องทางการสื่อสารไว้ทุกระดับ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)