ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 128 : แผนกบัญชีและการเงิน

บัญชีและการเงินคือหลอดเลือดชีวิต (Life-blood) ของโรงพยาบาล เป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของทุกหน่วยงานในระบบโรงพยาบาล ตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์ ไปจนถึงปฏิบัติการประจำวัน แผนกนี้รวม (1) การเก็บเงินและบริหารลูกหนี้ (2) การบริหารการเงิน และ (3) การบริหารงบประมาณ

หน้าที่การเก็บเงินและบริหารลูกหนี้ จะรับผิดชอบต่อการเก็บเงินจากผู้ป่วยที่มารับบริการหรือญาติผู้ป่วย กระบวนการนี้รวมถึงการเรียกเก็บจากวงจรการเบิกจ่าย (Claim cycle) ซึ่งมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ (1) การขอเบิกจ่าย (2) การประมวลการขอเบิกจ่าย (3) การบริหารบัญชีลูกหนี้ และ (4) การเรียกเก็บเงิน

วงจรการเบิกจ่าย เริ่มต้นด้วยผู้ป่วยลงทะเบียนในแผนกประกันสุขภาพ การเก็บข้อมูลผู้ป่วยเริ่ม ณ จุดนี้ โดยระบุสิทธิ์(Eligibility) การรักษาพยาบาลตาม 3 กองทุน ในบริบทของโรงพยาบาลรัฐ อันได้แก่ (1) กองทุนประกันสังคม (2) กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ (3) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในบริบทของโรงพยาบาลเอกชน จะเป็นการรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันสุขภาพ (Health insurance policy) ในทางปฏิบัติ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จะเก็บรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ เพื่อนัดพบกับผู้จ่ายค่าบริการ หรือบริษัทประกันสุขภาพ ภายใต้สัญญาการรักษาพยาบาล และกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ

ตามนโยบายมาตรฐาน ในวันนัดพบ ผู้จ่ายค่าบริการหรือบริษัทประกันสุขภาพ จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผู้รับบริการ โดยเฉพาะเรื่องหมดอายุสิทธิ์ ก่อนลงนามอนุมัติเป็นทางการ จากนั้นโรงพยาบาลจะรวบรวมแบบฟอร์มลงทะเบียนที่อนุมัติแล้ว พร้อมสำเนาบัตรประกันสุขภาพ แล้วเก็บเข้าแฟ้มประวัติผู้ป่วย

เอกสารเรียกเก็บเงิน (Charge slip/service slip หรือ Encounter) เป็นแบบฟอร์มที่ประกอบด้วยการวินิจฉัยและหัตถการ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผู้ป่วย (Demographic) และบัญชีผู้ป่วย โรงพยาบาลจะป้อนข้อมูลใหม่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจำเป็น

ผู้ป่วยแต่ละราย จะได้รับเลขหมายบัญชีผู้ป่วย โรงพยาบาลเริ่มใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการบัญชีผู้ป่วย ในการเปิดบัญชีผู้ป่วย ข้อมูลผู้ป่วยจะถูกป้อนเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นคอมพิวเตอร์จะพิมพ์รายชื่อผู้ป่วย และเอกสารอื่นๆ เพื่อใช้ในงาน

กิจกรรมประมวลการขอเบิกจ่ายรวมถึง บริการที่คิดค่าบริการ (Billable service) รายการที่ขอเบิกจ่าย และการแก้ไขรายการ การคิดค่าบริการเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการเรียกเก็บเงิน รายการในเอกสารประกอบด้วย ค่าแพทย์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ (ในรูปแบบของเงินสด เช็ค หรือบัตรเครดิต) การปรับปรุงรายการ (อาทิ การตัดเป็นหนี้สูญ (Write-off) และยอดคงเหลือ (Balance) เมื่อถึงกำหนดชำระ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)