ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 127 : ขั้นตอนการวางแผนยุทธศาสตร์

พันธกิจ (Mission) ของโรงพยาบาล มักได้รับการกลั่นกรองให้สั้นลงเหลือเป็นคติพจน์ (Slogan) เพื่อบรรจุลงในบัตรพนักงานได้ อาทิ “Delivering Excellent Care, Benchmarked to International Standards.” หรือ “เป็นเลิศในบริการ มาตรฐานสากล” เมื่อกำหนดพันธกิจแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision)

วิสัยทัศน์ จะระบุความหวังที่โรงพยาบาลต้องการจะเป็นในอนาคต ซึ่งอาจเป็นการมองไป 5 ปี ถึง 10 ปีข้างหน้า อาจเป็นความใฝ่ฝันของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) หรือ บุคลากรอื่นๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของโรงพยาบาล

จากนั้น ผู้บริหารจะกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะที่จะนำพาโรงพยาบาลไปสู่การบรรลุพันธกิจ รวมทั้งกลยุทธ์ (Strategy) และยุทธวิธี (Tactic) ที่จะใช้ในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาด หลังจากวิเคราะห์คู่แข่งขันอย่างละเอียดลออแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดผู้รับผิดชอบต่อการนำกลยุทธ์และยุทธวิธีไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล รวมทั้งกรอบเวลา(Timeline) หลังจากแผนยุทธศาสตร์ (Strategic plan) ได้รับการอนุมัติและนำไปปฏิบัติแล้ว จะมีการประเมินผล (Evaluation) และปรับปรุง (Refine) แผนยุทธศาสตร์เป็นระยะๆ ซึ่งอาจเป็นทุกไตรมาสหรือทุกปี

การทบทวนแผนยุทธศาสตร์เป็นระยะๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อค้นหาว่า ผลประกอบการของโรงพยาบาลดำเนินไปตามทิศทางที่กำหนดหรือไม่ หรือควรเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ใหม่ๆ แผนยุทธศาสตร์ที่ดีเลิศ อาจไม่มีความหมาย หากเป็นเพียงเอกสารที่ประดับไว้บนหิ้งหรือในความทรงจำ โดยไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เป็นการสูญเสียความพยายามและเวลาโดยใช่เหตุ

สิ่งที่สำคัญกว่าการวางแผน คือการลงมือปฏิบัติให้เป็นจริง (Execution) โดยมีผู้รับผิดชอบและกรอบเวลา เป็นตัวกำหนด แผนยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง จะได้รับการแตกย่อยเป็นแผนปฏิบัติการ (Operational plan) สำหรับผู้บริหารในระดับรองลงไป ตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา

การวางแผนระยะยาว (Long-range planning) นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล ในการแก้ปัญหาหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเป็นการ . . .

  1. สร้างฐานการจัดสรร (Basis of allocation) ทรัพยากรอย่างเป็นระบบ
  2. สร้างความมั่นใจว่า โรงพยาบาลจะดำเนินการไปตามพันธกิจ
  3. สร้างความมั่นใจในความอยู่รอด (Viability) ของโรงพยาบาลผ่านกระบวนการงบประมาณ (Budgetary process)
  4. สร้างเครื่องมือควบคุมให้ผู้บริหารเป็นแนวทางในปฏิบัติการประจำวัน และ
  5. สร้างมาตรฐานการวัดผลงาน (Performance standards) ของการบริหารจัดการโรงพยาบาล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)