ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 126 : ผู้วางแผนยุทธศาสตร์และพันธกิจ

ตามปรกติ การวางแผนยุทธศาสตร์ เป็นหน้าที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) แต่อาจเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงทั้งทีม หรือคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ (Medical staff) CEO อาจได้รับคำแนะนำจากแผนกวางแผนยุทธศาสตร์ (ถ้ามี) หรือจากที่ปรึกษาภายนอก (Consultant)

เนื่องจากความรับผิดชอบต่อการลงมือปฏิบัติ (Implementation) ให้เป็นไปตามทิศทางของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล CEO ต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์ในเชิงรุก อันที่จริง เขาเป็นผู้กำหนดกระบวนการวางแผน เสนอทางเลือก และตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนระยะยาว (Long-range planning)

บุคลากรทางการแพทย์ ก็มีบทบาทสำคัญในการค้นหาการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในการดูแลสุขภาพในชุมชน พร้อมนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ในการตอบสนองความต้องการดังกล่าว เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และอาจเรียกร้องให้โรงพยาบาลแสวงหาและซื้อเทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์มาใช้

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ยังให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล ในเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการวางแผนของโรงพยาบาล ดังนั้นผู้บริหารโรงพยาบาล จึงมักสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์มีส่วนร่วมในความเข้าใจปัญหาที่ฝ่ายบริหารประสบอยู่ ในเรื่องการวางแผนสำหรับอนาคต และในบริบทของทรัพยากร (Resources) ต่างๆ ที่มีอยู่จำกัด

การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการวางแผนต่อเนื่อง (Sequential) เป็นปีๆ อาจเป็น 3 ถึง 5 ปี โดยในขั้นแรกเป็นการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เรียกย่อว่า SWOT โดยที่ S = Strengths (จุดแข็ง) W = Weaknesses (จุดอ่อน) O= Opportunities (โอกาส) และ T = Threats (ภัยคุกคาม)

S กับ W สะท้อนถึงสถานภาพภายในของโรงพยาบาล โดยเฉพาะทรัพยการที่มีอยู่ ในขณะที่ O และ T สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมภายนอก การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ต้องอาศัยการกวาดส่อง (Scan) สภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม (ซึ่งรวมทั้งประชากรด้วย) เทคโนโลยี และการแข่งขัน

หลังการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกแล้ว โรงพยาบาลต้องตัดสินใจว่าต้องการเป็นอะไร และทำอะไร ในมุมกว้าง (Broad sense) การตัดสินใจนี้เกี่ยวข้องกับการทบทวน “พันธกิจ” (Mission) ของโรงพยาบาล ซึ่งมักจะร่างโดยผู้บริหารระดับสูง หรืออาจให้บุคลากรระดับล่างมีส่วนร่วมในการร่างด้วย

พันธกิจจะต้องระบุ (และสื่อสาร) ให้ชัดเจนในเรื่องปรัชญา และบริการที่เสนอให้แก่ชุมชน สำหรับพันธกิจของโรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ อาจรวมถึงพันธสัญญา (Commitment) ในด้านการศึกษา [การเรียน-การสอน] และการทำวิจัย นอกเหนือจากการให้บริการแก่สังคมผ่านโรงพยาบาล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)