ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 125 : การวางแผนยุทธศาสตร์

แผนยุทธศาสตร์ (Strategic plan) เปรียบเสมือนแผนที่ถนน (Road map) ซึ่งจะบอกเส้นทางไปสู่จุดหมายปลายทาง ในการวางแผนโรงพยาบาล ต้องวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เพื่อค้นหาทิศทางที่โรงพยาบาลกำลังมุ่งหน้าไป (Where) สิ่งที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติ (What) และวิธีการ (How) ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (Environment) และการแข่งขัน (Competition)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แผนยุทธศาสตร์ เป็นเส้นทางที่จะพาไปสู่สิ่งที่โรงพยาบาลต้องการจะเป็น ความเร็วของพัฒนาการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบต่อแต่ละส่วน (Segment) การวางแผน มิใช่เป็นกระบวนการที่ใช้เพียงสามัญสำนึก แต่เป็นกลยุทธ์ของการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้โรงพยาบาลต้องอยู่ในสภาวะที่แข่งขันได้

ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ ความต้องการของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ความจำเป็นที่โรงพยาบาลต้องเลี้ยงตัวเองได้ และการเบิกจ่าย/เบิกคืน (Reimbursement) ที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการการวางแผนงบประมาณ (Budgetary planning) โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนโรงพยาบาลในภาครัฐ มีการควบคุมที่เข้มงวดผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ (Regulations) เพื่อให้มั่นใจในการบริการที่จำเป็น เหมาะสม และไม่ขาดทุน ดังนั้น การอยู่รอดของโรงพยาบาลในทุกวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ได้ถูกต้อง ในการเลือกเส้นทางเดินสำหรับอนาคต

โรงพยาบาล สามารถขยายตัวทั้งในแนวดิ่ง (Vertical) และแนวราบ (Horizontal) ตัวอย่างของการขยายตัวในแนวดิ่ง ได้แก่คลินิกบริวาร (Satellite clinics) สถานดูแลผู้ป่วยระยะยาว (Long-term care) และนานาแหล่งที่ป้อนผู้ป่วยสู่โรงพยาบาล [ส่งต่อ (Refer) จากโรงพยาบาลอื่นๆ] ส่วนการดูแลผู้ป่วยตามบ้าน (Home care) การดูแลผู้ป่วยขั้นปฐมภูมิ (Primary care) และการรวมตัวเป็นเครือข่าย (Network) เป็นตัวอย่างบูรณาการของโรงพยาบาลในแนวราบ

โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการวางแผนที่รัดกุม (Sound) และปฏิบัติได้ (Practical) สำหรับอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมีพลังแข่งขัน (Competitive forces) ต่างๆ ภายนอกโรงพยาบาล อาทิ ศูนย์เอกเทศ (Free-standing centers) สำหรับการฟอกไต การฟื้นฟูบำบัด (Rehabilitation) การฉายรังสี (Imaging) การผ่าตัดตาด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัดเบ็ดเสร็จในวันเดียว (Day surgery) โดยไม่ต้องนอนค้างคืนในโรงพยาบาล

ปัจจัยที่ต้องได้รับการพิจารณาในกระบวนการวางแผน เพื่อค้นหาทางเลือกในการตัดสินใจสำหรับอนาคต ได้แก่การมีเครื่องมือทันสมัยตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีชีวการแพทย์ (Biomedical technology) และผลกระทบในทางต้นทุน การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของประชากร (Demographic pattern) และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐฐานะ ตลอดจนความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุในเขตเมือง (Urban) และการคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)